ครม.ไฟเขียวมาตรการ รับมือภัยแล้ง เศรษฐา สั่ง งดปลูกข้าวนาปรังรอบที่สอง

06 ก.พ. 2567 | 07:41 น.

ครม.ไฟเขียว 9 มาตรการ 5 ประเภทโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ รับมือฤดูแล้ง 67 ลากยาวครึ่งปี เศรษฐา สั่ง งดปลูกข้าวนาปรังรอบที่สองในภาคกลาง

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2567)  นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567  จำนวน 9 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 

นายคารมกล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 จำนวน 3 ด้าน 9 มาตรการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันต่อสถานการณ์ และจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 

 

1.ด้านน้ำต้นทุน (Supply) ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรองพร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) และ มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)

2.ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand) ประกอบด้วย มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง  (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) มาตราการที่ 4 บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)

มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ  (ตลอดฤดูแล้ง) 
3.ด้านการบริหารจัดการ (Management) ประกอบด้วย มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน (ตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) และ มาตรการที่ 9 ติดตามและประเสิมผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)

นายคารมกล่าวว่า สำหรับการจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำหรือเสี่ยงภัยแล้ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท 

ประเภทที่ 1 การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ ประเภทที่ 2 การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ประเภทที่ 3 การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ประเภทที่ 4 การเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และประเภทที่ 5 การเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร

“การดำเนินการมาตรการและโครงการดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ให้ สทนช. ทราบทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง”นายคารมกล่าว

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งและภัยร้อน  

“นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการอสม.เป็นหลัก รวมกับพม. หามาตรการรองรับภัยแล้งและภัยร้อน ซึ่งสถานการณ์จะเลวร้ายกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง”แหล่งข่าวกล่าว 

แหล่งข่าวกล่าวว่า เลขาธิการ สนทช.รายงานในที่ประชุมครม.ว่า ในช่วงครึ่งปีแรกสถานการณ์ภัยแล้งจะมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ช่วงครึ่งปีหลังปริมาณน้ำจะมากกว่าปกติ ดังนั้น คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะรองรับในกิจกรรมเศรษฐกิจในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

“น้ำที่กักเก็บอยู่ตามแหล่งน้ำในปี 66 มีปริมาณเพียงพอที่จะโรงรับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 67 ซึ่งภัยแล้งในปี 67 จะกินไปจนถึงเดือนมิถุนายน 67 อย่างไรก็ดีหลังจากนั้น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 67 เป็นต้นไป ปริมาณฝนจะมากกว่าปกติ จึงกักเก็บน้ำสำหรับปีถัดไปได้อีก”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะที่มาตรการรองรับหากเกิดสถานการณ์ภัยแล้งกินระยะเวลาเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะนำเสนอมาตรการเข้าครม.พิจารณาเพิ่มเติม เช่น การประหยัดการใช้น้ำ โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้งดปลูกข้าวนาปรังรอบที่สองในพื้นที่ภาคกลาง