ผวาเอลนีโญ ทุบเศรษฐกิจล้านล้าน ชาวนาชวดรับทรัพย์ราคาข้าวพุ่ง

16 ส.ค. 2566 | 06:54 น.

ผวาเอลนีโญลากยาว สะเทือนฟื้นตัวเศรษฐกิจ-ทุบส่งออกอาหาร 1 ล้านล้านบาทไม่ถึงฝั่ง ชาวนาห่วงกระทบข้าวนาปรัง 66/67 วูบ 3 ล้านตัน ชวดโอกาสทองรับราคาข้าวเปลือกพุ่งรอบ 16 ปี ข้าวถุงแบกต้นทุนเพิ่ม จ่อปรับราคา 5-10 บาท กนอ.มั่นใจไม่กระทบอีอีซี กอนช.ถกแผนรับมือ ของดทำนาต่อเนื่อง

ประเทศไทยได้เข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างชัดเจน จากก่อนหน้านี้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง เกิดภัยแล้ง พืชผลทางการเกษตรเสียหาย แม้เวลานี้จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ แต่สถานการณ์ข้างหน้ายังน่าห่วง โดยมีการพยากรณ์ของหลายหน่วยงานว่า ภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยจะยังต้องเผชิญภัยแล้งต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี จากเอลนีโญทำให้ปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องพร้อมรับมือ

  • กระทบฟื้นตัวเศรษฐกิจปี 67

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัญหาความแห้งแล้งจากปรากการณ์เอลนีโญที่อาจกินระยะเวลายาวนานจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่รุนแรงและน่ากลัว จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรของไทยรวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่ใช้นํ้ามาก ๆ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเร่งเตรียมมาตรการในการป้องกันและรับมือเร่งด่วน เช่น การหาแหล่งนํ้าสำรอง การกักเก็บนํ้า และอื่น ๆ ทั้งนํ้าเพื่อการเกษตร ภาคบริการ นํ้าเพื่อการอุตสาหกรรมเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เศรษฐกิจอย่างอีอีอซี รวมถึงนํ้าเพื่อการอุปโภค-บริโภค

สอดคล้องกับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งจากเอลนีโญมีความชัดเจนมากขึ้น หากไม่มีแผนรับมืออย่างเร่งด่วนและจริงจังจะกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมตามมาแน่นอน ในเบื้องต้น กกร.ประเมินภัยแล้งน่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องเตรียมแผนบริหารจัดการนํ้าที่เหมาะสมเพื่อรองรับความต้องการของทุกภาคส่วนซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยในช่วงปีหน้า

ผวาเอลนีโญ ทุบเศรษฐกิจล้านล้าน ชาวนาชวดรับทรัพย์ราคาข้าวพุ่ง

  • ส่งออกอาหาร 1 ล้านล้านห่วงกระทบ

 ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และในฐานะนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า คาดการณ์เอลนีโญจะสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรไทยด้านพืช โดยในปี 2566 คาดผลผลิตจะเสียหาย หรือลดลงจากปีก่อนคิดเป็นมูลค่าราว 4.8 หมื่นล้านบาท พืชที่จะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มนํ้ามัน และผลไม้ โดยข้าวจะเป็นพืชที่ได้รับความเสียหายมากสุด คิดเป็นสัดส่วน 80% ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด

ขณะเดียวกันในส่วนของสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานแปรรูปเพื่อการส่งออก เช่น สับปะรด ที่ปลูกมากในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีความเสี่ยงอาจได้รับความเสียหาย ซึ่งหากผลผลิตหายไป 5-10% ยังพอรับได้ แต่ห่วงจะเสียหายมากกว่านั้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันส่งออกการส่งออกสับปะรดกระป๋องที่มีอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เป็นคู่แข่งที่สำคัญ รวมถึงเวียดนามที่กำลังมาแรง ส่วนข้าวโพดหวานอีกหนึ่งในวัตถุดิบหลักที่ปลูกกระจายในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ต้องจับตาว่าผลผลิตที่จะออกมาจะมีปริมาณเป็นอย่างไร

ผวาเอลนีโญ ทุบเศรษฐกิจล้านล้าน ชาวนาชวดรับทรัพย์ราคาข้าวพุ่ง

“การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2565 โตกว่า 20% จากปีก่อน จากปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าอาหารได้ถึง 1.51 ล้านล้านบาท ส่วนปีนี้เราลุ้นมีโอกาสขยายตัวได้ 2-5% ซึ่งยังต้องรอดูว่าเอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งที่คาดจะต่อเนื่องยาวถึงปีหน้าจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน”

  • ราคาข้าวพุ่ง-จับตาแย่งนํ้า

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากที่รัฐบาลอินเดียประกาศงดส่งออกข้าวขาวเพื่อสกัดราคาอาหารที่กำลังพุ่งสูงขึ้นในประเทศ และเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีข้าวราคาเหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการในประเทศส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก และอานิสงส์ตกถึงชาวนาไทยที่เวลานี้ขายข้าวเปลือกเจ้าได้ที่ระดับ 11,000-12,000 บาทต่อตัน สูงสุดในรอบ 16 ปี

ทั้งนี้ต้องติดตามว่าอินเดียจะงดส่งออกข้าวไปนานแค่ไหน หากงดส่งออกเพียง 2-3 สัปดาห์แล้วประกาศให้กลับมาส่งออกได้ใหม่ราคาข้าวในตลาดโลกคงปรับตัวลดลง และราคาข้าวสารส่งออกและข้าวเปลือกในประเทศของไทยก็จะปรับตัวลดลงตาม ภาวนาขอให้อินเดียงดส่งออกข้างต่อไป อย่างไรก็ดีจากเวลานี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศ ในแง่ชาวนาหากมีนํ้าก็ต้องทำ และอาจเกิดการแย่งนํ้า เพราะเป็นโอกาสขายข้าวได้ราคาดี ซึ่งต้องรอดูรัฐบาลใหม่จะช่วยชาวนาอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องแหล่งนํ้า การพักหนี้ สวัสดิการชาวนา พันธุ์ข้าว และอื่น ๆ

ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย

 “ที่เราห่วงคือผลกระทบภัยแล้ง อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังต้นปีหน้าหายไป 3 ล้านตัน จากปีนี้คาดยังได้ที่ประมาณ 6 ล้านตันข้าวเปลือกใกล้เคียงกับทุกปีที่ผ่านมาเพราะยังมีน้ำ ดังนั้นถ้ามีภัยแล้ง การทำฝนเทียมก็ต้องเตรียมการณ์ นอกจากนี้ห่วงจะกระทบผู้บริโภค จากราคาข้าวถุงในประเทศที่จะปรับขึ้น ตามต้นทุนข้าวสารที่เพิ่มขึ้นหากสต๊อกข้าวถุงเดิมของผู้ประกอบการหมดลงในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า”

รายงานข่าวจากสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เผยว่า จากต้นทุนข้าวสารที่ปรับขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 17 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เป็น 23 บาท ต่อ กก. หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 15-20% ในเวลานี้ ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีสต๊อกข้าวเก่าไม่มาก ต้องรอดูราคาข้าวสารในเดือนกันยายนจะเป็นอย่างไร หากต้นทุนยังยืนสูง ผู้ประกอบการหลายอาจตัดสินใจปรับขึ้นราคาข้าวถุงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จากที่เวลานี้ราคาที่ขายอยู่เป็นราคาโปรโมชั่น โดยอาจจะปรับขึ้น 5-10 บาทต่อถุงขนาด 5 กก.

  • กนอ.มั่นใจอีอีซีไม่ขาดนํ้า

 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยว่า จากการลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อไปสำรวจสภาพของอ่างเก็บนํ้า ระบบจ่ายนํ้า รวมถึงแผนการรองรับนํ้าสำรองของ กนอ. เชื่อว่า จนถึง เดือนเม.ย.-พ.ค. 2567 จะไม่เกิดปัญหานํ้าแล้งในพื้นที่ให้บริการของกนอ.แน่นอน

 ส่วนนอกพื้นที่ให้บริการของ กนอ. นั้น ส่วนตัวมีความเป็นห่วงเล็กน้อย โดยเฉพาะพื้นที่เขตชลบุรีที่จะต้องดูแลเรื่องระบบบริหารจัดการการจ่ายนํ้า อย่างไรก็ดีสำหรับนิคมฯชลบุรี ระยอง และในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) นั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

  • กรมชลห่วงข้าว 8 ล้านไร่

ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการนํ้าและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า จากปรากฎการณ์เอลนีโญในปัจจุบัน ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ นํ้าในเขื่อนต่าง ๆ ลดลง กระทบต่อปริมาณนํ้าในภาพรวมโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยานั้น กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการโดยกำหนดแผนจัดสรรนํ้าจาก 4 เขื่อนหลัก(ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2566 จนถึง 31 ต.ค. รวมทั้งสิ้น 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปี 8.05 ล้านไร่

จากข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค. 2566 ใน 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณนํ้าใช้การรวมกันทั้งสิ้น 2,974 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก มีการจัดสรรนํ้าไปแล้วรวม 4,525 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่เพาะปลูกไปแล้วประมาณ 7.15 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.30 ล้านไร่

“เอลนีโญมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2567 จะส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้ 4 เขื่อนหลัก จะมีปริมาณนํ้าใช้การได้รวมกัน ประมาณ 5,000 ถึง 7,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก โดยปริมาณนํ้าใช้การจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย กรมชลประทาน ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดเพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณนํ้าต้นทุนมีไม่เพียงพอ”

  • กอนช.ลุยแผนรับมือ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการนํ้าแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า วันที่ 16 ส.ค. 2566 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุม กอนช. ประเด็นสำคัญคือการเตรียมรับมือเอลนีโญ โดยที่จะเสนอเพิ่มเติมคือขอให้งดทำนา ตัวอย่างเช่น ชาวนาหากเก็บเกี่ยวในช่วงนี้แล้ว ก็ขอให้งดทำนาออกไปก่อนโดยจะรณรงค์ทั้งประเทศ พร้อมรณรงค์ทุกภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรม ราชการและประชาชนให้ใช้นํ้าให้ประหยัดและคุ้มค่า รวมถึงแผนบริหารจัดการนํ้า 2 ปี เพื่อเก็บกักนํ้าต้นทุนให้มากที่สุด โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ส่วนพายุที่จะเข้ามานั้น กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สิงหาคม-กันยายนนี้ จะมีเข้ามา 1-2 ลูก ต้องรอลุ้นว่าจะเข้ามาจริงหรือไม่

  • ธ.ก.ส.ยันมีมาตรการช่วย

รายงานข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แจ้งว่า กรณีอินเดียงดส่งออกข้าว ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะส่งผลดีกับเกษตรกรไทยมากน้อยเพียงใด เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูเพาะปลูกของเกษตรกรไทย จะต้องมาติดตามในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวอีกครั้งว่าแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกยังอยู่ระดับสูงหรือไม่ ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้อยู่ก็จะส่งผลดีต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน

“ตอนนี้ผลผลิตจากการปลูกข้าวนาปีของภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือตอนบนยังไม่ออก ยังตอบไม่ได้ว่า จากสถานการณ์แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้น จะส่งดีต่อเกษตรกรไทยแค่ไหน เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้น เป็นเพราะอินเดียประกาศห้ามส่งออก เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในประเทศ หากผลผลิตของอินเดียมีเพียงพอ และยกเลิกประกาศดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้ราคาข้าวกลับมาอยู่ในภาวะปกติ”

ทั้งนี้ ปัจจุบันธ.ก.ส.อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อรองรับภัยแล้งเอลนีโญ ซึ่งมาตรการหลาย ๆ อย่างที่ธนาคารพิจารณาอยู่ขณะนี้จะต้องดูความเหมาะสมในหลายด้าน เพราะปัจจุบันยังมีเกษตรกรริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมทั้งเกษตรกรภาคใต้ ที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ ดังนั้น จะต้องมาดูว่าธ.ก.ส.จะสามารถดูแลเกษตรกรอย่างไร เพื่อบรรเทาผลกระทบได้มากที่สุด รวมทั้งจะมีการออกมาตรการพักหนี้มาดูแลเพิ่มเติมด้วย ยืนยันว่าเรื่องภัยธรรมชาตินั้น ธ.ก.ส.มีการออกมาตรการมาดูแลอย่างแน่นอน

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3914 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2566