ชำแหละ FTA ไทย-ศรีลังกา 9 พันรายการเลิกภาษีทันที ดันค้า1.4 หมื่นล้านโตพรวด

02 ก.พ. 2567 | 04:40 น.

เจาะไส้ใน FTA ไทย-ศรีลังกา กรมเจรจาฯชี้ไทยได้ประโยชน์อื้อ ทั้งส่งออก ค้าบริการ ตั้งฐานลงทุน ระบุสินค้ากว่า 9,000 รายการลดภาษีเป็นศูนย์ทันที หลังมีผลบังคับใช้ ดันการค้า 1.4 หมื่นล้านโตต่อเนื่อง นักวิชาการแนะรุกตั้งโรงงาน ใช้แรงงานค่าแรงต่ำ ส่งสินค้าเจาะเอเชียใต้

KEY

POINTS

  • ไทยและศรีลังกามีกำหนดการลงนามความตกลง FTA ไทย-ศรีลังกา ช่วงระหว่างการเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทย 3-4 ก.พ. 2567 
  • ผลประโยชน์ที่ไทยและศรีลังกาจะได้รับระหว่างกันจากความตกลง FTA ที่จะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้
  • ข้อเสนอแนะของนักวิชาการและภาคเอกชนไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากความตกลงนี้

หลังจากที่ไทยว่างเว้นการมีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) หรือ FTA ฉบับใหม่ ๆ มานานกว่า 3 ปี โดยฉบับสุดท้ายในจำนวน FTA 14 ฉบับของไทยกับ 18 ประเทศ ที่ได้มีการลงนามและมีผลบังคับใช้ คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งเป็น FTA ที่อาเซียน(รวมไทย)ได้ทำกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้มีการลงนามกันเดือนพฤศจิกายน 2563

ล่าสุดไทยประสบความสำเร็จในการเจรจา FTA กับประเทศศรีลังกา ที่ได้เจรจากันมาตั้งแต่ปี 2561ซึ่งเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างความตกลง FTA ไทย-ศรีลังกา และเห็นชอบให้มีการลงนามความตกลง ซึ่งจะมีขึ้นที่ประเทศศรีลังกาในช่วงการเดินทางเยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยนายกรัฐมนตรีจะร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกาในครั้งนี้ด้วย

ชำแหละ FTA ไทย-ศรีลังกา 9 พันรายการเลิกภาษีทันที ดันค้า1.4 หมื่นล้านโตพรวด

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกาครั้งนี้ มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะ และจะเป็นผู้ลงนามความตกลง หลังจากนั้นต้องนำเรื่องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ และนำสู่ขั้นตอนการให้สัตยาบันของทั้งสองประเทศ เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดไม่น่าจะเกิน 6 เดือนนับจากนี้

สำหรับ FTA กับศรีลังกาจะเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย และเป็นฉบับแรกภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยครอบคลุมความตกลงการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า กฎหมาย และความร่วมมือด้านต่างๆ ซึ่งหลังความตกลงมีผลบังคับใช้จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยในส่วนของการค้าสินค้า ทั้งสองฝ่ายจะปรับลดภาษีเป็น 0% ทันที ในสัดส่วน 50% ของจำนวนสินค้าที่ค้าขายระหว่างกัน โดยเป็นสินค้าไทยกว่า 10,000 รายการ และศรีลังกา 8,000 รายการ (รวม 2 ฝ่ายกว่า 9,000 รายการ)

ทั้งนี้ศรีลังกามีจุดเด่นด้านที่ตั้งที่เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือที่สามารถเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อาทิ แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล ขณะที่สินค้าไทยที่คาดจะได้รับประโยชน์จากความตกลง ได้แก่ ยานยนต์ สิ่งทอ อัญมณี โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็ก กระดาษ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์ เมล็ดข้าวโพด เป็นต้น

ส่วนภาคบริการที่จะได้รับประโยชน์ อาทิ การเงิน ประกันภัย ท่องเที่ยว ก่อสร้าง คอมพิวเตอร์ และการวิจัยและพัฒนา ขณะที่ด้านการลงทุนที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ การผลิตอาหารแปรรูป การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การแพทย์

จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” ในปี 2566 การค้าไทย-ศรีลังกา มีมูลค่ารวม 14,430 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี (นับจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 14,111 ล้านบาท) โดยไทยส่งออก 10,098 ล้านบาท และนำเข้า 4,332 ล้านบาท สินค้าส่งออกของไทยไปศรีลังกา 5 อันดับแรกในปี 2566 ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ, น้ำมันสำเร็จรูป, ผ้าผืน, ยางพารา และเคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากศรีลังกา 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ, เสื้อผ้าสำเร็จรูป, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, พืชและผลิตภัณ์จากพืช และกาแฟ ชา เครื่องเทศ (กราฟิกประกอบ)

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของศรีลังกาไม่ดีนัก มีภาระหนี้สินกับประเทศจีนมาก และคนมีกำลังซื้อไม่มาก ขณะที่มีสินค้าจีนเป็นเจ้าตลาด ซึ่ง FTA ไทย-ศรีลังกา คงช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทยและช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า การส่งออกได้ระดับหนึ่ง

ดังนั้นเสนอแนะให้ผู้ประกอบการไทยใช้จุดเด่นของศรีลังกาให้เป็นประโยชน์ เช่น การไปลงทุนตั้งโรงงานสินค้าเกษตรแปรรูป จากศรีลังกามีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ และใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียใต้อื่นๆ (อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก รวมถึงไปตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่ใช้เส้นใยจากธรรมชาติ หรือจากวัตถุดิบทางการเกษตรในศรีลังกา หรือนำไปจากไทย เพื่อผลิตเสื้อผ้ารักษ์โลก หรือเสื้อผ้ายั่งยืนที่เป็นเทรนด์ของโลก เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในเอเชียใต้ ยุโรป อเมริกา รวมถึงทั่วโลก จากที่เวลานี้ศรีลังกายังได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) จากหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว

“นอกจากนี้จากที่ไทยเก่งเรื่องภาคบริการท่องเที่ยว และโรงแรม ขณะที่ศรีลังกาก็มีสถานที่ท่องเที่ยวมาก ดังนั้นกลุ่มทุนเก่าในภาคท่องเที่ยวและโรงแรมของไทย รวมถึงกลุ่มทุนใหม่สามารถใช้ประโยชน์ในการขยายการลงทุนได้”

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า ในช่วงเศรษฐกิจ และการค้าโลกขาลง ณ ปัจจุบัน การขยายตลาดใหม่ ๆ ถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวมาก ซึ่งเอฟทีเอกับศรีลังกาจะเป็นอีกโอกาสของภาคการส่งออกไทยที่จะขยายตลาดได้มากขึ้น จากภาษีนำเข้าที่จะลดลง แม้เวลานี้เศรษฐกิจศรีลังกาจะยังไม่ดี แต่ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาให้ขยายตัวได้มากขึ้นในอนาคต ส่วนตัวมองศรีลังกาเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการส่งออกอาหารแปรรูป ประเภทผัก ผลไม้กระป๋องของไทย ที่สำคัญสินค้าต้องมีคุณภาพดี และราคาแข่งขันได้

อนึ่ง ผู้ลงทุนไทยในศรีลังกา ณ ปัจจุบัน ได้แก่ บริษัท Bischoff Gamma Lanka (สิ่งทอ) บริษัท Siam City Cement, บริษัท CPF, บริษัท Minor Group, บริษัท Centara และบริษัท Onyx ส่วนผู้ลงทุนของศรีลังกาในไทย ได้แก่ บริษัท Knaap (Thailand) (วัสดุสำหรับปลูกพืชทำจากขุยมะพร้าว), บริษัท Dipped Products (Thailand) (ถุงมือยาง) และบริษัท แอ๊ดเวนตีส ลีโอ (ประเทศไทย) (โลจิสติกส์)

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3963 วันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567