นบข.นัดแรก รัฐบาล “เศรษฐา” ถกเปลี่ยนชื่อ “ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่”

01 พ.ย. 2566 | 23:39 น.

ผลประชุม นบข. นัดแรก รัฐบาล “เศรษฐา” ถกเปลี่ยนชื่อ “ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่” หลังจาก กรมการข้าว เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เช็คบทสรุปของเรื่อง พร้อมทั้งเหตุผลสำคัญของแนวคิดใหม่ รวบรวมไว้ที่นี่

การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นนัดแรกของรัฐบาลนี้ มีวาระที่น่าสนใจเสนอเข้ามาในที่ประชุมช่วยกันพิจารณา เปลี่ยนชื่อ “ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) ตามที่กรมการข้าว เสนอ

สำหรับข้อเสนอข้างต้น เป็นผลจากที่ผ่านมา กรมการข้าว ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการของคณะอนุกรรมการนโยบาย และบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กษ 2606/2326 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2566 เสนอเรื่องการพิจารณาปรับเปลี่ยนชื่อ “ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่” เป็น “ข้าวเปลือกหอมมะลิ” เข้าสู่การพิจารณาของ นบข. นัดแรก

โดยที่ประชุมได้พิจารณาวาระการเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ก่อนจะมอบหมายให้ 2 หน่วยงานหลัก นั่นคือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปหารือกับผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนผู้ประกอบการค้าข้าว และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่

ทั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว ก็ให้นำรายละเอียดทั้งหมดเข้ามาเสนอให้ที่ประชุม นบข. เพื่อพิจารณาต่อไป

 

นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) นัดแรก

 

เหตุผลของการเปลี่ยนชื่อ “ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่”

สำหรับความเป็นมาของการเปลี่ยนชื่อ “ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่” เป็นผลมาจาก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 สมัชชาคนจนได้รวบรวมความเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดสระแก้ว นครสวรรค์ ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาข้าวหอมมะลิที่ปลูกนอกเขตพื้นที่ 23 จังหวัด ที่กำลังประสบปัญหาจากการขายข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ราคาต่ำกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ ถึงเฉลี่ย 2,000 บาทต่อตัน ต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยกรมการข้าวมีหนังสือ ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2566 แจ้งขอให้นำเสนอ นบข. พิจารณาเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด ที่นำพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไปปลูกในพื้นที่จังหวัดอื่นของประเทศไทยเป็น “ข้าวหอมมะลิ” มีรายละเอียด ดังนี้

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้ประชุมเพื่อพิจารณาการปรับเปลี่ยนชื่อ ข้าวเปลือกหอมจังหวัด เป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตามมติของคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาด เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 และมีมติเห็นว่า ยังไม่เหมาะสมที่จะเปลี่ยนชื่อข้าวหอมจังหวัดเป็นข้าวหอมมะลิ โดยเห็นควรให้คงชื่อ "ข้าวเปลือกหอมจังหวัด” ไว้เช่นเดิม

 

นบข.นัดแรก รัฐบาล “เศรษฐา” ถกเปลี่ยนชื่อ “ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่”

ต่อมากรมการข้าวได้สำรวจและวิจัยคุณภาพข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ปีการผลิต 2550/51 - 2551/52 พบว่า เป็นไปตามมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย ทั้งทางกายภาพ (ความยาว ความกว้าง และความหนาของเมล็ด ข้าวเปลือก) และอัตราส่วน (เมล็ด) และทางเคมี (อมิโลส ค่าการสลายในด่าง) 

ขณะที่ผลการวิจัยของกรมการข้าว ปี 2560 ซึ่งได้เก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิ 779 ตัวอย่างที่ปลูกในพื้นที่และนอกพื้นที่ พบว่าเป็นไปตามมาตรฐานหอมมะลิไทย แต่อย่างไรก็ตาม มาตรฐานก็ยังต่ำกว่าข้าวหอมมะลิในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารความหอม (2AP) และยังมีความเหนียวนุ่มน้อยกว่าข้าวในพื้นที่

จากนั้นฝ่ายเลขานุการได้พิจารณา และมีความเห็นว่า พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ปลูกนอกพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ 3 จังหวัด แม้จะเป็นสายพันธุ์เดียวกัน แต่ลักษณะของพื้นที่ปลูกสภาพดินและอากาศมีความแตกต่างกัน ดังนี้ 

1.ข้าวหอมมะลิเป็นพันธุ์ข้าวไวแสง ปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง เมื่อนำข้าวหอมมะลิมาปลูกในพื้นที่ซึ่ง เป็นพื้นที่ที่น้ำสมบูรณ์ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง ส่งผลให้ความบริสุทธิ์ (purity) น้อยกว่าข้าวหอมมะลิในเขตที่ปลูกครั้งเดียว

2. พื้นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นดินปนทรายและดินมีความเค็มเล็กน้อยบวกกับสภาพ ภูมิอากาศที่แห้งแล้งสลับขึ้นลักษณะดังกล่าว ทำให้ข้าวหอมมะลิมีความหอมมากยิ่งขึ้น และเมล็ดเรียวยาว ขาวใส เมื่อข้าวเย็นตัวลงข้าวจะไม่แข็งตัว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของข้าวขาวดอกมะลิ 105 สอดคล้องกับการวิจัยของกรมการข้าว

แต่อย่างไรก็ตามข้าวที่ปลูกนอกพื้นที่หากมีคุณภาพดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาก็จะเท่ากับข้าวหอมมะลิในพื้นที่ เช่นเดียวกับข้าวหอมมะลิในพื้นที่หากมีคุณภาพที่ไม่เท่ากันก็จะได้รับราคาแตกต่างกันตามคุณภาพเช่นกัน

 

นบข.นัดแรก รัฐบาล “เศรษฐา” ถกเปลี่ยนชื่อ “ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่”

 

ส่วนด้านการตลาด ฝ่ายเลขานุการ ระบุว่า ในทางการค้าข้าวสารมีการแยกชนิดข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่และนอกพื้นที่ โดยราคาจะต่างกันตามคุณภาพของข้าว การปรับชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่เป็นข้าวหอมมะลิ อาจจะส่งผลให้ภาพรวมราคาข้าวหอมมะลิได้รับผลกระทบได้ราคาที่ต่ำลง ซึ่งส่งผลเสียต่อตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ

โดยปริมาณผลผลิตข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ มีผลผลิตเพียง 16% ของข้าวหอมมะลิที่ผลิตได้ทั้งหมด ดังนั้นการปรับเปลี่ยนชื่อจะส่งผลกระทบต่อข้าวหอมมะลิในพื้นที่ที่มีประมาณ 84%

สรุป : ฝ่ายเลขานุการ จึงเสนอว่า เห็นควรมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนผู้ประกอบการค้าข้าว และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาหาแนวทางที่ความเหมาะสมเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด ต่อไป