ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ได้นำกลุ่มสมาชิกชาวสวนยางพาราที่อยู่ในสมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราไทย และชุมนุมสหกรณ์เกษตรระยองจำกัด นำโดย พ.ต.ท.สังวาลย์ ยังดี และดร.วัฒนา บันเทิงสุข ไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองจ.ระยอง ในคดี 2 คดี ได้แก่ 1.คดีการไต่สวนฉุกเฉินในการปลูกยาง 80 ต้น/ไร่(ต้องเสียภาษีที่ดิน) ขัดกับพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยมาตรา 4 ซึ่งกำหนดไว้ 25 ต้น/ไร่ ซึ่ง การปลูกยางต้องใช้เวลาถึง 6 ปี
ทั้งนี้ในปีแรก ถ้าใช้ระยะปลูก 2.5 x 8 เมตร จะขุดหลุมและปลูก ยางเต็มพื้นที่ได้ 80 ต้นต่อไร่ จากนั้นในปีที่ 2 ถึงปีที่ 6 ต้นยางจะเหลือไม่ถึง 80 ต้นต่อไร่ เพราะตามธรรมชาติของพืชเกษตรก็จะมีต้นที่ตาย หรือไม่เจริญเติบโตส่วนหนึ่งอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นต้น แม้จะมีการปลูกซ่อมก็ตาม แต่ซ่อมสำเร็จเพียงบางส่วน ฉะนั้น ต้นยางที่เหลือคงสภาพเป็นสวนยางก็ไม่ถึง 80 ต้นต่อไร่ จึงถือว่าเกษตรกรชาวสวนยางเข้าหลักเกณฑ์ประกอบเกษตรกรรมเสียภาษีตาม (1) เพียงปีแรกเท่านั้น ปีต่อ ๆ ไปต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าตามประกาศ (3) (4) โดยการยางแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์การปลูกยางหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของลักษณะพื้นที่และชนิดของพันธุ์ยาง ดังนี้
- ระยะปลูก 2.5 x 8 เมตร จำนวนต้นสูงสุด = 80 ต้นต่อไร่
- ระยะปลูก 3 x 7 เมตร จำนวนต้นสูงสุด = 76 ต้นต่อไร่
- ระยะปลูก 3.5 x 7 เมตร จำนวนต้นสูงสุด = 65 ต้นต่อไร่
- ระยะปลูก 4 x 6เมตร จำนวนต้นสูงสุด = 66 ต้นต่อไร่
- แบบผสมผสาน กำหนดต้นยาง 40 ต้นต่อไร่
จะเห็นได้ว่าการกำหนดต้นยางขั้นต่ำไว้ที่ 80 ต้นต่อไร่ ไม่เหมาะสมและเป็นไปไม่ได้การกำหนด อัตราขั้นต่ำ 80 ต้น/ไร่สำหรับ “พืชยางพารา” ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะเหตุว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว การปลูกยางซึ่งใช้เวลาถึง 7 ปี จึงจะได้ผลผลิต ระยะปลูกส่วนมากจะเป็น 3×8 เมตร จะได้ต้นยางจำนวน 68 ต้น/ไร่ แต่กว่าจะครบ 7 ปี ถึงเปิดกรีดต้นยาง
ทั้งนี้ต้นยางส่วนหนึ่งจะตายเนื่องด้วยภัยธรรมชาติหรือเป็นโรค คงเหลือ ต้นยางประมาณ 59 ต้นต่อไร่ และในปัจจุบันเมื่อราคายางตกต่ำ ภาครัฐก็จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแซมยาง และพืชร่วมยาง ระยะปลูกยางก็ต้องปรับเป็น 3×12 เมตร ซึ่งจะได้ต้นยางจำนวน 44 ต้น/ไร่ เปิดกรีดได้ ประมาณ 30-35 ต้น/ไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับ ข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ที่กำหนดคำจำกัดความคำว่า “สวนยาง”โดยเฉลี่ยควรไม่น้อยกว่า 25 ต้น/ไร่ จึงควรกำหนดจำนวนขั้นต่ำของพืชยางพารา เป็น 25 ต้นต่อไร่ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางจะเสียภาษีที่ดินในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี ทั้งนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับหลักวิชาการในการจัดการสวนยางพารา และการปลูกพืชยางพารามากยิ่งขึ้น อีกด้วย
ดร.อุทัย กล่าวว่า ในส่วนเรื่องที่ 2 คดีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ออกระเบียบขัดสิทธิประโยชน์ของสมาคมฯตาม พ.ร.บ.กยท.มาตรา 4 ทำให้สมาคมไม่ได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกับ สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร ตามความหมายในมาตรา 4 ซึ่งในมาตรา 49(3)(6) กำหนดการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพารา เพื่อสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง
อย่างไรก็ดีทั้ง 2 เรื่องนี้ ขอให้ศาลช่วยพิจารณาให้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินคำร้องขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาและมีคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองอย่างใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา หรือวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองในระหว่างพิจารณาโดยเร่งด่วน เพื่อทุเลาการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว ด้วย