กูรูชี้ทางรอดไทย ค้าขายกับจีน สู้เศรษฐกิจขาลง-เงินฝืด

07 ก.ย. 2566 | 08:45 น.

นักวิชาการแนะทางสว่าง ค้าขายกับจีนช่วงขาลง เศรษฐกิจ-กำลังซื้อฝืด จี้รัฐนำทีมลุยบิสซิเนส แมทชิ่ง เพิ่มใช้ประโยชน์รถไฟลาว-จีนลดต้นทุนการขนส่ง ระบุแนวโน้มสูงส่งออกไทยไปจีนปีนี้ 0%

เศรษฐกิจจีน หัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ในเวลานี้สถานการณ์น่าห่วง จากเกิดหลายเหตุการณ์ขึ้นพร้อม ๆ กัน ทั้งจีนที่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ส่งออกได้ลดลง ส่งผลการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปของจีนลดลง เกิดภาวะเงินฝืด การบริโภคภายในลดลง หนี้ครัวเรือน หนี้บริษัท และหนี้รัฐบาลจีนเพิ่มเป็น 282% ต่อจีดีพี (ณ ไตรมาส 2 ของปี 2566)

กูรูชี้ทางรอดไทย ค้าขายกับจีน สู้เศรษฐกิจขาลง-เงินฝืด

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่จีนได้ประสบภาวะวิกฤตในหลายเรื่องข้างต้น ขณะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้การค้ารวม (ส่งออก+นำเข้า)ระหว่างไทย-จีน ยังติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้จากเดิมคาดการส่งออกไทยไปจีนในปี 2566 จะมีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดีจากคาดว่าจีดีพีของจีนในปีนี้จะลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 5% เหลือ 4.5-4.8% คาดจะส่งผลกระทบทำให้การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2566 ไม่ขยายตัว (0%) จากเดิมคาดขยายตัว 0.3% และจะทำให้การส่งออกของไทยไปจีนจะลดลงจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2-3 หมื่นล้านบาท

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

สำหรับข้อเสนอแนะภาคเอกชนไทยที่ทำการค้าขายกับจีนในช่วงนับจากนี้ไป มองว่าที่สำคัญมีดังนี้คือ

 1.ทำกิจกรรม Business Matching รายอุตสาหกรรมมากขึ้น 2.ปรับตัวไปยังตลาดอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง

 3.ใช้ประโยชย์จากรถไฟลาว จีน เพราะช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง 4.สร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทย โดยร่วมมือกับหน่วยงานจีนทำการตรวจสอบย้อนกลับ และ 5.ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

“ขณะเดียวกันจากที่นักลงทุนจีนสนใจลงทุนในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนจีน คือ การมีนโยบายการค้า และลงทุนไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลเดิม เพราะเวลานี้มีนักลงทุนจากจีน ต่างชาติในจีนได้ทยอยย้ายฐานฯจากจีนมาอาเซียน รวมถึงไทยเพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์”