เสนอรัฐบาลใหม่ อัดงบ 2 แสนล้าน ปฏิวัติชาวนาไทย หลัง “ยิ่งทำ ยิ่งจน”

02 ส.ค. 2566 | 03:44 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 04:44 น.

นักวิชาการเสนอรัฐบาลใหม่ใส่เงินอีกไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ยกเครื่องชาวนาไทย เพิ่มความสามารถในการแข่งขันใน 5 เรื่องใหญ่ วอนรัฐหยุดการแทรกแซง หลัง 10 ปี “ยิ่งทำ ยิ่งจน” ปี 2565 รายได้ต่อไร่หักต้นทุนถึงขั้นติดลบ

ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปรียบเทียบชาวนาไทยกับอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (เปรียบเทียบปีช่วงปี 2555 กับปี 2565) พบว่า ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยลดลง รวมถึงรายได้ และเงินคงเหลือของชาวนาไทยต่อไร่น้อยกว่าคู่แข่งขัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นอยู่ลำดับต้น ๆ เป็นรองจากอินเดียเท่านั้น

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ในฐานะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทย และชาวนาไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาวรัฐบาลควรหยุดการแทรกแซงสินค้าเกษตร และนำเงินประชานิยมด้านการเกษตรไปแก้ปัญหาของสินค้าเกษตร (ต้นทุนสูง ผลผลิตต่อไรตํ่า ไม่รู้ตลาด) อย่างจริงจัง โดยเกษตรกรใดทำได้ มีการให้รางวัล การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร ผลิตสินค้าเกษตรมีมาตรฐาน และส่งเสริมให้เกิดการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม คำนึงสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ข้อเสนอแนะข้างต้น เพื่อให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรม ในช่วง 4 ปีของรัฐบาลใหม่ รัฐต้องใส่เงินลงไปไม่เกิน 2 แสนล้านบาท เพื่อตอบโจทย์เร่งด่วนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้1.เพิ่มศักยภาพการแข่งขันสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในหลากหลายเรื่อง (50,000 ล้านบาท) 2.ใส่เงินวิจัยในการพัฒนาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ สิ่งแวดล้อม (50,000 ล้านบาท) 3.ใส่เงินในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นวัตถุดิบรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น เสื้อผ้าและอุปกรณ์เส้นใยธรรมชาติ เป็นต้น (30,000 ล้านบาท)

4.ใส่เงินให้กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs รู้จักวิธี Post Harvest Technology  (เทคโนโลยี การแปรรูปผลิตภัณฑ์) เพื่อให้สินค้าไปขายในต่างประเทศด้วยอายุที่นานกว่าเดิม (10,000 ล้านบาท) และ 5.กระจายความเสี่ยงในตลาดต่างประเทศที่ไม่ผูกติดกับตลาดเดิม (10,000 ล้านบาท)

เสนอรัฐบาลใหม่ อัดงบ 2 แสนล้าน ปฏิวัติชาวนาไทย หลัง “ยิ่งทำ ยิ่งจน”

ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวเป็นผลพวงจากบทวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตของชาวนาไทย พบว่า ในปี 2565 มีรายได้ 3,900 บาทต่อไร่ ขณะที่มีต้นทุน 5,899 บาท ชาวนาขาดทุน 1,999 บาทต่อไร่ (จากปี 2555 มีรายได้ 4,678 บาทต่อไร่ ต้นทุน 3,840 บาท มีเงินคงเหลือ 838 บาทต่อไร่) เทียบกับชาวนาอินเดีย ปี 2565 มีรายได้11,116 บาทต่อไร่ ต้นทุน 6,994 บาท มีเงินคงเหลือ 4,122 บาทต่อไร่ (จากปี 2555 มีรายได้ 9,298 บาทต่อไร่ ต้นทุน 4,412 บาท มีเงินคงเหลือ 4,886 บาทต่อไร่)

ขณะที่ชาวนาเวียดนาม ปี 2565 มีรายได้ 8,321 บาทต่อไร่ ต้นทุน 5,098 บาท มีเงินคงเหลือ 3,223 บาทต่อไร่ (จากปี 2555 มีรายได้ 8,252 บาทต่อไร่ ต้นทุน 4,071 บาท มีเงินคงเหลือ 4,181 บาทต่อไร่) และชาวนาเมียนมา ปี 2565 มีรายได้ 5,953 บาทต่อไร่ ต้นทุน 4,574 บาท มีเงินคงเหลือ 1,379 บาทต่อไร่ (จากปี 2555 มีรายได้ 4,532 บาทต่อไร่ ต้นทุน 3,154 บาท มีเงินคงเหลือ 1,378 บาทต่อไร่)

ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทย ณ ปัจจุบันตํ่ากว่าเวียดนาม 3 เท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่) โดยชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ขณะที่เวียดนามคือชาวนาอาชีพ จากชาวนาไทยส่วนใหญ่คิดแค่ 2 เรื่องคือ ราคากับผลผลิต ไม่ค่อยคิดเรื่องการปรับลดต้นทุน แต่ชาวนาเวียดนามคิดในเรื่อง “3 ลด 3 เพิ่ม”

เสนอรัฐบาลใหม่ อัดงบ 2 แสนล้าน ปฏิวัติชาวนาไทย หลัง “ยิ่งทำ ยิ่งจน”

นอกจากนี้ชาวนาไทยมีภาระหนี้สินมาก ส่วนหนึ่งมีการขายนาเพื่อปลดหนี้ และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ โดยที่นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้ ขณะที่แหล่งนํ้าในการทำนามีไม่เพียงพอ ชาวนาไทยทำนาได้ปีละ 1-2 ครั้ง เทียบกับเวียดนามทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี รวมถึงเงินวิจัยข้าวทั้งในเรื่องการเพิ่มผลผลิต คิดค้นพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ไทยใส่เงินเพียงปีละประมาณ 200 ล้านบาท เทียบเวียดนามใส่เงินปีละ 3,000 ล้านบาท ส่วนอินเดีย จีน และญี่ปุ่นใส่เงินวิจัยข้าวมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และนโยบายแทรกแซงตลาดของรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา ทำลายศักยภาพการแข่งขัน ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง ทำให้ยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลง ราคาขายลดลง

ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลกในปี 2565 ได้แก่ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ตามลำดับ โดยประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของอินเดียได้แก่ บังกลาเทศ ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน ส่วนประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ อิรัก สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ และจีน และเวียดนามมีคู่ค้าข้าวที่สำคัญได้แก่ ฟิลิปปินส์ กานา และจีน

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3910 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2566