ชง เอ้กบอร์ด ดัน “ไข่โรงเรียน” ตีกันบีบเกษตรกรขายราคาตํ่าทุน

24 ก.ค. 2566 | 07:07 น.

นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ ชงเอ้กบอร์ด ดัน “ไข่โรงเรียน” ครั้งใหม่รอบ 15 ปี หลังเคยเสนอสมัย “รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช” แต่เจอกลุ่มผลประโยชน์โครงการอาหารกลางวันเด็ก บีบเกษตรกรขายไข่ราคาตํ่ากว่าต้นทุน ด้าน“เอ้กบอร์ด” เคลียร์ชัด ประสิทธิภาพการผลิตไก่ไข่-ไข่ไก่ปี 67 แก้ล้นตลาด

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีมาตรการการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด และราคาตกตํ่ามาโดยลำดับ สวนทางต้นทุนการผลิตของเกษตรเวลานี้ที่สูงขึ้นมากตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าไฟฟ้าและต้นทุนด้านอื่น ๆ ทำให้ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องแก้ปัญหาทุกปี หนึ่งในนั้นมีข้อเสนอ โครงการไข่โรงเรียน เลียนโมเดลนมโรงเรียน

มาโนช ชูทับทิบ

นายมาโนช ชูทับทิบ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และกรรมการในเอ้กบอร์ด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า “ไข่โรงเรียน” ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีจุดเริ่มต้นจากตัวเองที่คิดเรื่องนี้มากว่า 10 ปีแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เริ่มต้นจากเอ้กบอร์ดสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่มีโครงการอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน เริ่มต้น 7 บาทต่อหัวต่อคน ซึ่งทางสมาคมมีมติขอเพิ่มจาก 7 บาท เป็น 10 บาทต่อหัวต่อคน โดย 3 บาทที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาซื้อไข่ไก่ประกอบอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน ซึ่งในโครงการอาหารกลางวันส่วนหนึ่งมีกลุ่มผลประโยชน์ในกระทรวงศึกษาธิการ(ในสมัยนั้น) มีเมนูบังคับมาแล้ว และฝังรากลึกมานาน สุดท้ายก็ไม่สามารถนำไข่ไก่เข้าโครงการได้ และจบอยู่แค่นั้น

 

ชง เอ้กบอร์ด ดัน “ไข่โรงเรียน” ตีกันบีบเกษตรกรขายราคาตํ่าทุน

 

“แต่ถ้าวันนี้จะทำจริง เป็นเรื่องที่ดี โดยหลักการจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีความมั่นคงในอาชีพ แต่โครงการนี้มองว่าอาจเกิดยาก ผมเคยเสนอในเอ้กบอร์ดว่าให้เชิญกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องในโครงการนมโรงเรียน และอาหารกลางวันเด็กมาด้วย โดยทำให้เป็นรูปธรรม เพราะในความเป็นจริงไม่ใช่ที่จะทำได้ง่าย แต่ถ้าจะทำขอให้ทำให้จริงจัง เพราะโครงการนี้จะช่วยทุกฝ่าย ส่วนงบประมาณก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม จะอยู่ในงบอาหารกลางวันอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาปัญหาคือ เกษตรกรในพื้นที่โดนบังคับให้ขายไข่ไก่ในราคาถูก ซึ่งตรงนี้เพี้ยน เพราะคนเลี้ยงมีต้นทุน ส่วนจะให้ใช้เงินกองทุนอุตสาหกรรมไข่ไก่มาอุดหนุน ก็ไม่เห็นด้วยเนื่องจากวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา”

 

ชง เอ้กบอร์ด ดัน “ไข่โรงเรียน” ตีกันบีบเกษตรกรขายราคาตํ่าทุน

นายมาโนช ยังกล่าวถึงเรื่องใบประกาศราคาไข่ไก่แนะนำ เดิมอ้างอิงจากใบประกาศราคาของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ มาไม่น้อยกว่า 15 ปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2565 ได้เปลี่ยนเป็นประกาศโดยเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่นํ้าน้อย จำกัด ที่เป็นผู้ประกาศราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์ม เรื่องประกาศราคานี้ขอยืนยันว่าเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะหากเป็นไปตามความต้องการของผู้เลี้ยงคงต้องการราคาสูงตามต้นทุนการผลิต แต่ในเรื่องนี้ผู้ผลิตไข่ไก่ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ เพราะในรูปคณะกรรมการมีกรมการค้าภายในอยู่ในคณะด้วย จะไปตามใจตัวเองทั้งหมดก็จะถูกต่อต้าน

ชง เอ้กบอร์ด ดัน “ไข่โรงเรียน” ตีกันบีบเกษตรกรขายราคาตํ่าทุน

ด้านแหล่งข่าวจาก 1 ใน 16 บริษัทที่นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เผยว่า มีการปรับปรุงประสิทธิภาพสายพันธุ์ไก่ไข่และไข่ไก่ ปี 2567 โดยพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) 1 ตัว ผลิตลูกไก่ไข่เพศเมียได้ 107 ตัว (เดิม 106 ตัว) ส่วนแม่ไก่ยืนกรง 1 ตัว ผลิตไข่ไก่ได้ 361 ฟอง ปลดที่อายุ 80 สัปดาห์ ส่วนประสิทธิภาพของปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) 1 ตัว ผลิตลูกพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ยืน (PS) 77 ตัว เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการบริหารไข่ไก่แบบสมดุลต่อไป

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,907 วันที่ 23-26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566