พาณิชย์ดันส่งออกทุเรียนคุณภาพใช้จุดแข็งขอถิ่นกำเนิดสินค้า

03 เม.ย. 2566 | 03:38 น.

ส่งออกทุเรียนไทยจะให้เหนือกว่าคู่แข่งต้องทำไง? พาณิชย์ชวนผปก.ทุเรียนไทยใช้ C/Oสร้างแต้มต่อ ย้ำต้องไม่ตัดทุเรียนอ่อนจำหน่ายและส่งออก และไม่นำเข้าทุเรียนจากประเทศอื่นสวมสิทธิทุเรียนไทย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลออกผลผลิตและส่งออกทุเรียน จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการมาขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ภายใต้ ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากร ณ ประเทศปลายทาง ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีความตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้ จำนวน 14 ฉบับ สำหรับการส่งออกไปยัง 18 ประเทศสมาชิกความตกลงฯ ได้แก่ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู และชิลี

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะขอรับ C/O จะต้องมาขึ้นทะเบียนเป็น ผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้ากับกรมฯ ก่อน หลังจากนั้นให้ทำการตรวจคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ประกอบการจะต้องแสดงให้เห็นว่าสินค้าตนผลิตได้ตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของสินค้า ที่จะส่งออก

สำหรับทุเรียน ความตกลงฯ ทั้ง 14 ฉบับ กำหนดกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) คือ Wholly Obtained หรือ ทุเรียนนั้นต้องเป็นทุเรียนไทย คือ ปลูกและเก็บเกี่ยวในประเทศไทย ซึ่งเอกสารที่ใช้แสดงเพื่อประกอบการตรวจ ROO ของทุเรียน ประกอบด้วย แบบขอรับการตรวจต้นทุน พร้อมระบุข้อมูลเพื่อยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าเพิ่มเติม

พาณิชย์ดันส่งออกทุเรียนคุณภาพใช้จุดแข็งขอถิ่นกำเนิดสินค้า

โดยทุเรียนเป็นสินค้าเฝ้าระวังเนื่องจากมีการสวมสิทธิเอาทุเรียนจากประเทศอื่นมาอ้างว่าเป็นทุเรียนไทยและทำการส่งออก ผู้ประกอบการจึงต้องแสดงเอกสารรับรองว่าเป็นสินค้าที่มี ถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเพิ่มเติม เช่น เอกสารยืนยันแหล่งที่มาของทุเรียน

พาณิชย์ดันส่งออกทุเรียนคุณภาพใช้จุดแข็งขอถิ่นกำเนิดสินค้า

โดยใช้ใบรับรองแหล่งผลิต GAP ใบเสร็จซื้อขาย สลิปโอนเงินที่มีหลักฐานการซื้อขายจากสวนที่ปลูกในไทย เป็นต้น เพื่อพิสูจน์ว่าทุเรียนของตนไม่มีการสวมสิทธิ หลังจากนั้น ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอ C/O ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมื่อรายละเอียดทุกอย่างถูกต้องครบถ้วน

เจ้าหน้าที่จะอนุมัติคำขอ C/O ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยปกติจะใช้เวลาอนุมัติภายใน 20 นาที/ฉบับ หลังจากอนุมัติเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการทราบ ผ่านระบบฯ เพื่อจะได้มารับ C/O ที่กรมการค้าต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ ในเร็วๆ นี้ ผู้ประกอบการ จะไม่จำเป็นต้องรับ C/O ที่กรมฯ อีกต่อไป โดยจะสามารถพิมพ์ C/O ณ สำนักงานตนเองได้ทันที

พาณิชย์ดันส่งออกทุเรียนคุณภาพใช้จุดแข็งขอถิ่นกำเนิดสินค้า

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ประกอบการที่ขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าส่งออกทุเรียนสดและแช่เย็นแช่แข็ง คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 5,164.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 177,000 ล้านบาท โดย C/O ที่มีการขอรับมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่  ฟอร์ม E (ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน) มูลค่า 5,074.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฟอร์ม RCEP มูลค่า 50.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ฟอร์ม D (ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน) มูลค่า 16.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ฟอร์ม JTEPA (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น) มูลค่า 12.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ  ฟอร์ม AK (ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี) มูลค่า 5.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ