“ประกันรายได้ข้าว” 4 ปี รัฐควัก 4.6 แสนล้าน

25 มี.ค. 2566 | 06:57 น.

“ประกันรายได้ข้าว” 4 ปี รัฐควักจ่ายช่วยชาวนาแล้วกว่า 4.6 แสนล้าน นบข. เผยปี 4 รัฐชดเชยต่ำสุด ควักจ่ายเพียง 7,858 ล้าน ผลพวงชาวนากว่า 2 ล้านครัวเรือนขายข้าวได้สูงกว่าราคาประกัน “สุเทพ” ฝากรัฐบาลใหม่ดันต่อมาตรการคู่ขนาน ชี้ “ข้าวหอมมะลิอินทรีย์”รุ่ง สหรัฐ-อียูซื้อไม่อั้น

ไตรมาสแรก ปี 2566 วงการจับสัญญาณการซื้อขายข้าวไทยคึกคัก โดยมีแรงส่งมาตั้งแต่ปลายปี 2565 กระทรวงพาณิชย์คาดความต้องการใช้ข้าวเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านตันข้าวสาร เป็น 8 ล้านตันข้าวสาร มีปัจจัยบวกจากผลผลิตของประเทศคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม และอินเดีย มีปริมาณจำกัด บวกกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก

สุเทพ คงมาก ประชุม นบข. ครั้งสุดท้าย ก่อนยุบสภา

นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลจากราคาข้าวทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับที่ดี ส่งผลให้โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 4 (ปี 2565/66) รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยโอนเงินให้เกษตรกรแล้วกว่า 7,858 ล้านบาท (งวดที่ 1-22) และมีเงินคงเหลือ 10,478.59 ล้านบาท จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 พ.ย. 2565 ได้อนุมัติกรอบวงเงิน 18,337.50 ล้านบาท

“ประกันรายได้ข้าว” 4 ปี รัฐควัก 4.6 แสนล้าน

ทั้งนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนต่าง งวดที่ 1-22 จำนวนกว่า 2 ล้านครัวเรือน เนื่องจากราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน ปัจจุบันธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายชดเชยมาถึงงวดที่ 22 แล้ว จากทั้งหมด 33 งวด โดยจะจ่ายงวดสุดท้ายวันที่ 31 พ.ค. 2566 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2566 ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดโครงการประกันรายได้ข้าวปี 4 โดยคาดจะเป็นปีที่มีการจ่ายชดเชยส่วนต่างต่ำสุด

 

อย่างไรก็ดีจากการรวบรวมข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” ข้อมูล ณ วันที่ 17 มี.ค. 2566 ช่วง 4 ปีของโครงการประกันรายได้ข้าว ธ.ก.ส.ได้จ่ายชดเชยส่วนต่างราคาข้าว เงินช่วยเหลือชาวนา และในโครงการคู่ขนานแล้วรวม 456,048.9 ล้านบาท

“ประกันรายได้ข้าว” 4 ปี รัฐควัก 4.6 แสนล้าน

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เป็นข้าวที่มาแรงในเวลานี้ ซึ่งนอกจากชาวนาจะขายข้าวได้ราคาสูงกว่าราคาตลาด 2,000 บาทต่อตันตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์แล้ว ในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ยังมีความต้องการข้าวชนิดนี้ไม่จำกัดปริมาณ อยากให้ภาครัฐสนับสนุนต่อเนื่อง “ประกันรายได้ข้าว” 4 ปี รัฐควัก 4.6 แสนล้าน

ขณะเดียวกันโครงการคู่ขนานของรัฐในการชะลอการขายข้าวเปลือกของชาวนาส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศยกระดับขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาลชุดใหม่อยากให้ดำเนินมาตรการคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วย เพื่อไม่ให้ผลผลิตข้าวทะลักออกมาในเวลาพร้อมๆ กันซึ่งจะส่งผลถึงเสถียรภาพด้านราคา และทำให้ราคาข้าวเป็นธรรมทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ

“ประกันรายได้ข้าว” 4 ปี รัฐควัก 4.6 แสนล้าน

“ปีนี้สถานการณ์ข้าวหอมมะลิ กข15 ที่เป็นข้าวหอมมะลินาปรัง จากการสำรวจตั้งแต่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มหาสารคาม มีข้าวจำนวนมาก ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องรู้แล้วว่าข้าวที่ปลูกในนาปรังมีเท่าไร ไม่ใช่รู้แค่เฉพาะแค่ลุ่มนํ้าเจ้าพระยาเท่านั้น ตรงนี้ได้นำเสนอข้อมูลผ่าน นบข.แล้ว อย่างไรก็ตามมีความเป็นห่วงข้าวหอมมะลิบรรจุถุงในประเทศ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบให้เข้มข้น เพราะเป็นห่วงผู้บริโภคจะได้รับประทานข้าวหอมมะลิที่ไม่ใช่ของแท้และเกิดจากการปลอมปนอย่างในประเทศจีน”

แหล่งข่าววงการค้าข้าว เผยว่า จากที่เวลานี้เงินบาทอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกข้าวไทยดีขึ้น การส่งออกข้าวไทยปีนี้ได้ถึง 8 ล้านตันมีความเป็นไปได้ โดยช่วงหลังปีใหม่เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายข้าวขาว ขณะที่ข้าวเหนียวค่อนข้างชะลอตัว

“ประกันรายได้ข้าว” 4 ปี รัฐควัก 4.6 แสนล้าน

“ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกข้าวได้แล้วประมาณ 1.5 ล้านตัน ทิศทางค่อนข้างดี อย่างไรก็ดีมีความเป็นห่วงข้าวนึ่ง หากมีพันธุ์ข้าวนุ่มมาปลอมปน อาจจะส่งผลให้ลูกค้าปลายทางปฎิเสธได้ เนื่องจากข้าวนึ่งต้องการข้าวชนิดแข็ง ดังนั้นต้นทางจะต้องช่วยคัดคุณภาพข้าวเปลือกก่อนส่งมอบโรงสีเพื่อผลิตส่งออก ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาต่อระบบได้”

ธีร์วริศ พรพันธวิศ

ด้าน นายธีร์วริศ พรพันธวิศ นายกสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน และในฐานะคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างและการชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 เผยความคืบหน้า ผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ในโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวนกว่า 4.6 ล้านครัวเรือนได้โอนเงินแล้ว 15 ครั้ง คิดเป็นเงิน 5.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 99.36% ของจำนวนเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงินชดเชย 5.4 หมื่นล้านบาท

 

“ประกันรายได้ข้าว” 4 ปี รัฐควัก 4.6 แสนล้าน

 

ส่วนที่ยังโอนไม่สำเร็จมี 1,498 ครัวเรือน วงเงิน 9.4 ล้านบาท อาทิ เกษตรกรไม่มีบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส., ชื่อ สกุลขึ้นทะเบียนไม่ตรงกับบัญชีเงินฝาก, บัญชีปิด,บัญชีถูกอายัด และบัญชีไม่เคลื่อนไหว ซึ่งทาง ธ.ก.ส. ฝากประชาสัมพันธ์ ใครที่ยังไม่ได้เงินให้ไปติดต่อ ธ.ก.ส.สาขาใกล้บ้าน

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,873 วันที่ 26-29 มีนาคม พ.ศ. 2566