"องคมนตรี" ติดตามแผนการบินฝนหลวง แก้ปัญหาภัยแล้ง

17 มี.ค. 2566 | 05:54 น.

2 องคมนตรี ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ประจำปี 2566 ติดตามสถานการณ์น้ำ -แผนการบินฝนหลวงแก้ปัญหาภัยแล้ง

วันที่ 17 มีนาคม 2566 พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงครั้งที่ 1/2566 พร้อมด้วย นายจรัลธาดา  กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมและแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2566

"องคมนตรี" ติดตามแผนการบินฝนหลวง แก้ปัญหาภัยแล้ง

นอกจากนี้เพื่อสรุปภาพรวมผลการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ประจำปี 2565 ความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านวิจัยร่วมกับกองทัพอากาศ ความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบนและอาคารพิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวง ความก้าวหน้าการดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และการขอรับโอนท่าอากาศยานตากเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยมีกรมชลประทานและกรมอุตุนิยมวิทยาเข้าร่วมรายงานข้อมูลสภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศ สถานการณ์น้ำในเขื่อนและการบริหารจัดการน้ำ ประจำปี พ.ศ.2566 อีกด้วย

สุพิศ พิทักษ์ธรรม

ด้าน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการเปิดปฏิบัติการฝนหลวงมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งมีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งและสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ มุ่งเน้นที่การป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควันซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังคงความรุนแรง การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของประเทศ การยับยั้งหรือบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ

 

รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ มีอากาศยานที่พร้อมบินปฏิบัติการปัจจุบัน จำนวน 31 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 24 ลำ อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 7 ลำ โดยมีผลปฏิบัติการดังนี้ ( ข้อมูลวันที่ 1 – 14 มีนาคม 2566)

"องคมนตรี" ติดตามแผนการบินฝนหลวง แก้ปัญหาภัยแล้ง

1.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ขึ้นบินปฏิบัติภารกิจทำฝนสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองและไฟป่าพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 6 วัน 11 เที่ยวบิน (23:20 ชั่วโมงบิน)  มีรายงานฝนตก ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก ปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าโดยเฮลิคอปเตอร์ ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 วัน รวม 42 เที่ยวบิน (11:20 ชั่วโมงบิน) ใช้ปริมาณน้ำดับไฟ 25,200 ลิตร

  "องคมนตรี" ติดตามแผนการบินฝนหลวง แก้ปัญหาภัยแล้ง

2.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เพิษณุโลก ขึ้นบินปฏิบัติภารกิจยับยั้ง-สลายพายุลูกเห็บ จำนวน 1 เที่ยวบิน (3:50 ชั่วโมงบิน) หลังปฏิบัติการไม่มีรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่เป้าหมายการปฏิบัติการ 3.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.แพร่ ขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองและช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จำนวน 3 วัน 6 เที่ยวบิน (8 ชั่วโมงบิน) มีรายงานฝนตก 1 วัน ได้แก่ที่ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.พิษณุโลก

 4.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครสวรรค์ ขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จำนวน 1 วัน 3 เที่ยวบิน (5:30 ชั่วโมงบิน) สามารถก่อเมฆในพื้นที่ปฏิบัติให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อดูดซับหมอกควัน ฝุ่นละอองได้ในระดับหนึ่ง และไม่มีรายงานฝนตก 5.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.จันทบุรี ขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จำนวน 3 วัน 9 เที่ยวบิน (13:45 ชั่วโมงบิน) มีรายงานฝนตก 1 วัน ได้แก่ที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด 

"องคมนตรี" ติดตามแผนการบินฝนหลวง แก้ปัญหาภัยแล้ง

นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงแบบเชิงรุก โดยจะมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการในทุกวันหากสภาพอากาศเข้าเกณฑ์ที่เหมาะสม และจะมีการปรับเปลี่ยนแผนและหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้านต่าง ๆ เพื่อเร่งช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อันจะเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการพระราชดำริฝนหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรต่อไป