เก็บเงินเซสส์สูงสุด 4 ปี จับตาครม.ทิ้งทวนตั้งบอร์ดกยท.

12 มี.ค. 2566 | 05:00 น.

กยท. เผยเก็บเงินเซสส์ปี 65 ได้สูงสุดรอบ 4 ปี กว่า 8.8 พันล้าน จับตาโค้งสุดท้ายก่อนยุบสภา ดันแต่งตั้งประธาน-บอร์ด กยท. ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง วงการหลอน วอนอย่าปลุกผีรับจำนำซื้อยางเก็บสต๊อก ถลุงภาษีประชาชน ทำชาติเสียหาย ด้านสวนยางโดนใจ 2 พรรคการเมือง เชื่อช่วยกู้วิกฤติยาง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักรต้องชำระ พ.ศ.2560 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 47 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จึงมีประกาศอัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้ส่งออกยางนอกราชอาณาจักรต้องชำระค่าธรรมเนียม (เงินเซสส์ / Cess)ในอัตรากิโลกรัม(กก.) ละ 2 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป และยังใช้อัตราดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

เก็บเงินเซสส์สูงสุด 4 ปี จับตาครม.ทิ้งทวนตั้งบอร์ดกยท.

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้นได้มีการจัดเก็บเงินเซสส์ แบบขั้นบันได 5 ระดับ โดยหากราคาส่งออกยางไม่เกิน กก.ละ 40 บาท จัดเก็บเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ยางในอัตรา กก. 0.90 บาท ราคาส่งออกยางเกิน กก.ละ 40 บาท แต่ไม่เกิน กก.ละ 60 บาท จัดเก็บในอัตรา กก.ละ 1.40 บาท ราคาส่งออกยางเกินกว่า กก.ละ 60 บาท แต่ไม่เกิน กก.ละ 80 บาท จัดเก็บในอัตรา กก.ละ 2 บาท ส่งออกยางเกินกว่า กก.ละ 80 บาท แต่ไม่เกิน กก.ละ 100 บาท จัดเก็บในอัตรา กก.ละ 3 บาท และราคาส่งออกยางเกินกว่า กก.ละ 100 บาท จัดเก็บในอัตรา กก.ละ 5 บาท ดังนั้นในช่วงปี 2560 จะเป็นช่วงรอยต่อที่มี 2 โครงการรวมกัน

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รายได้จากการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (เงินเซสส์) ในปี 2565 ที่ส่งออกยางกว่า 4.41 ล้านตัน สามารถจัดเก็บได้กว่า 8,826 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 4 ปี อย่างไรก็ตามในส่วนของ กยท. ขณะนี้ยังมีเรื่องตกค้าง ที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนรัฐบาลจะยุบสภา ได้แก่ การแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท. และประธานบอร์ด ซึ่งขณะนี้เรื่องเสร็จเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงขั้นตอนการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ

 

เก็บเงินเซสส์สูงสุด 4 ปี จับตาครม.ทิ้งทวนตั้งบอร์ดกยท.

“สาเหตุที่การแต่งตั้งประธานบอร์ด และบอร์ดการยางฯยังค้างมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากมีกลุ่มเกษตรกร และเครือข่าย กยท.คัดค้าน จากมีหลักฐานบ่งชี้ว่า ไม่ใช่เป็นเกษตรกร หรือตัวแทนเกษตรกรตัวจริง แต่เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง ทำให้ขัดกับเจตนารมณ์ ดังนั้นช่วงนี้คงต้องวัดใจผู้ว่าฯ กยท. จะทำตามข้อเสนอคือชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน รอจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แต่หากจะสนองพรรคการเมืองก็ต้องลุ้นกันในโค้งสุดท้ายว่าจะนำเรื่องเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติทิ้งทวนหรือไม่”

 

พงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล

 

นายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล นายกสมาคมนํ้ายางข้นไทย กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ยางพารา เป็นโครงการที่ดีที่ช่วยเกษตรกรรายย่อยโดยตรง ไม่อยากให้ซื้อแทรกแซงราคานำมาเก็บสต๊อกเหมือนการรับจำนำในอดีต ทำให้มีปัญหาเรื่องเดสสต๊อก สุดท้ายต้องนำออกมาขายในราคาถูก ทำให้โครงการขาดทุนโดยใช้เงินภาษีประชาชนไปเป็นจำนวนมาก สถานการณ์ยางพาราในเวลานี้ค่อนข้างยํ่าแย่ จากความต้องการใช้ยางพารายังมีไม่มาก ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง ยอดขายไม่มี (อยู่ในช่วงปิดกรีดยาง) ราคาทรงตัว เพราะไม่มียาง หากมีผลผลิตราคาคงร่วงไปแล้ว

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

ด้าน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงการหาเสียงชาวสวนยางให้ความสนใจอยู่ 2 พรรคการเมือง ซึ่งมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับยางพาราโดยตรง สิ่งที่อยากนำเสนอเพิ่มเติมคือ ในการรักษาเสถียรภาพราคายางต้องหันมามุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมยาง เร่งหานวัตกรรมใหม่มาเพิ่มมูลค่าแทนที่จะขายเป็นวัตถุดิบ การเปลี่ยนพันธุ์ยางใหม่ ใช้ยางพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 (RRIT 251) จากให้ผลผลิตนํ้ายางมากกว่าเท่าตัว ดีกว่า พันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 (RRIM 600) หรือที่เรียกว่าพันธุ์ 600 เพราะมาเลเซียเลิกใช้มากว่า 30 ปีแล้ว   

  

ประชัย กองวารี

 

ส่วนนายประชัย กองวารี อดีตนายกสมาคมถุงมือยางไทย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดจากรัฐบาลเวลานี้คือ ให้ช่วยผลักดันสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนโดยเร็วที่สุด จากผู้ประกอบการถุงมือยางยํ่าแย่ ขาดทุนหนัก สินค้าล้นตลาด ขายไม่ออก ขาดสภาพคล่อง หลายโรงงานทนไม่ไหวต้องปิดกิจการลง

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,869 วันที่ 12-15 มีนาคม พ.ศ. 2566