“วิศิษฐ์”ชี้ 5 ความท้าทายส่งออกอาหารไทย ฟิวเจอร์ฟู้ดมาแรง

09 ก.พ. 2566 | 14:12 น.

“วิศิษฐ์”รองประธานหอการค้าฯ-นายกสมาคมอาหารอนาคต ชี้ 5 ความท้าทายส่งออกอาหารไทย หลังปี 65 ส่งออกกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ระบุอาหารสัตว์เลี้ยง-ฟิวเจอร์ฟู้ดความหวังใหม่โตวันโตคืน

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา  รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวในงานสัมมนา อนาคตประเทศไทย ECONOMIC DRIVES # เศรษฐกิจไทย...สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก จัดโดยโพสต์ทูเดย์ ในเครือเนชั่น ช่วง Gear Up กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สาระสำคัญระบุว่า

ไทยมีสถานการณ์ความท้าทายต่อเศรษฐกิจและการส่งออกในปีนี้ใน 5 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก  ตัวอย่างรัสซีย-ยูเครน ส่งผลให้อาหารของโลกที่เป็นพื้นฐานในเรื่องธัญพืช เช่น ข้าวสาลีหายไปจากตลาดโลก 30% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หายไป 20% มีผลต่อเรื่องระดับราคาที่สูงขึ้น เพราะทุกประเทศต้องแย่งซื้อในแหล่งผลิตอื่น แม้แต่ไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหาร และมีอาหารส่วนเกินที่สามารถส่งออกไปในต่างประเทศได้ 30% บริโภคในประเทศ 70% ก็ได้รับผลกระทบ จากระดับราคาอาหารคนและอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มีผลต่อราคาอาหาร และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

2.อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ แม้จะเริ่มลดระดับลงมาแล้ว แต่ที่ผ่านมาส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อย จากมีผลต่อต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ส่วนไทยก็เริ่มเห็นผลแล้ว จากมีการส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบต่อเรื่องนี้มากสุดคือ เอสเอ็มอี ที่ยังมีภาระหนี้เดิมอยู่ตั้งแต่ก่อนโควิด เมื่อมาเจอเรื่องนี้ทำให้ฟื้นตัวช้า

3.มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งมีมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ช่วงโควิดเหมือนชะลอไป แต่ช่วงหลังจากนี้ด้วยภาวะของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเริ่มระส่ำระสาย และถูกกดดันด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทุกประเทศต้องหามาตรการลดการนำเข้า

“วิศิษฐ์”ชี้ 5 ความท้าทายส่งออกอาหารไทย ฟิวเจอร์ฟู้ดมาแรง

4.การขาดแคลนแรงงาน จากที่ไทยยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านจากการผลิตแบบเดิม ๆ  เป็นแบบที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเลยทันทีภายในเวลาชั่วข้ามคืน ยังต้องมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน และ 5. เรื่องราคาพลังงานช่วงที่ผ่านพุ่งขึ้นไปสูง ทำให้มีผลต่อค่าระวางเรือที่สูงขึ้น 5-7 เท่าในช่วงโควิด และมีปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนจากคนงานติดโควิดไม่มีคนทำงาน ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือปลายทางเป็นแสนตู้ แต่เวลานี้สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ระดับค่าระวางเรือเริ่มลดลงมาใกล้เคียงเดิม ปัญหากลับกันตู้คอนเทเนเนอร์ล้น การแข่งขันส่งออกสินค้าที่เข้มข้นเริ่มกลับมาอีกครั้ง

นายวิศิษฐ์ ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวถึง สถานการณ์การส่งออกสินค้าอาหารของไทยว่า  ในปี 2565 ยังอยู่อันดับที่ 13 ของโลก ซึ่งแต่ละประเทศเก่งในเรื่องอาหารไม่เหมือนกัน โดยในส่วนของไทยเก่งเรื่องอาหารสำเร็จรูป

“วิศิษฐ์”ชี้ 5 ความท้าทายส่งออกอาหารไทย ฟิวเจอร์ฟู้ดมาแรง

ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของการส่งออกอาหารไทย ส่งออกได้มูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22%  ในอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ในจำนวนนี้สัดส่วน 10% มาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า ทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยในหมวดสินค้าอาหารใช้วัตุดิบในประเทศสัดส่วนถึง 70% ส่วน 30% เป็นการนำเข้าวัตถุดิบและส่วนผสมบางอย่างที่ไทยไม่มีหรือยังทำได้ไม่ดีเท่าในต่างประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารสุทธิของไทยปี 2565 เติบโตประมาณ 10% แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผ่านไปถึงระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

ในปี 2565 ตลาดส่งออกสินค้าอาหารไทย 5 อันดับแรกได้แก่ จีน มูลค่าส่งออก  357,135 ล้านบาท (+12%), อาเซียน 350,741 ล้านบาท (+26%), ญี่ปุ่น 162,055 ล้านบาท (+17%), สหรัฐอเมริกา 152,383 ล้านบาท (+16.7%)  และสหภาพยุโรป(อียู) 116,322 ล้านบาท (+32%) ตามลำดับ

“จีนในปีที่ผ่านมีการนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้นจากการผลิตสะดุดจากผลพวงมาตรการ Zero  COVID  ปีนี้กลับมาฟื้นตัว ญี่ปุ่นก็กลับมาฟื้นตัว การท่องเที่ยวก็กลับมา ทำให้มีความต้องการอาหารเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวอีกมาก โดยสินค้าในกลุ่มอาหารส่งออกในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นทุกตัว บวกมากบวกน้อย แต่ตัวที่บวกมากส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับความกังวลเกี่ยวกับรัสเซีย-ยูเครน เช่น ไขมันจากพืชและสัตว์ น้ำตาลทราย ไก่สด เป็นต้น”

ขณะที่สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ โดยช่วง 3 ปีในช่วงสถานการณ์โควิดยอดส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละกว่า 30% โดยเป็นกลุ่มสินค้าที่ยังตอบโจทย์เรื่อง BCG (Bio-Circular-Green) จากวัตถุดิบทุกส่วน เช่นเนื้อปลา ก้างปลา เลือดปลา ใช้ผลิตสินค้าได้ทั้งหมด รวมถึงอาหารทะเลกระป๋องก็ยังเติบโตได้ดี

“วิศิษฐ์”ชี้ 5 ความท้าทายส่งออกอาหารไทย ฟิวเจอร์ฟู้ดมาแรง

สำหรับเทรนด์อาหารโลกในปี 2566 ที่มาแรงเช่น Protein Choices (อาหารที่ผสมผสานทั้งโปรตีนจากสัตว์ และพืช), Balance Wellness โดยผู้บริโภควางแผนที่จะจัดการกับสุขภาพจิตของตนเอง ส่วนหนึ่งผลจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เป็นต้น นอกจากนี้อาหารอนาคต (Future Food) ที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มอาหารที่มาแรงในปีนี้ โดยมูลค่าการส่งออก Future Food ของไทยในปี 2565 มีมูลค่า  129,301 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปีก่อน

“วิศิษฐ์”ชี้ 5 ความท้าทายส่งออกอาหารไทย ฟิวเจอร์ฟู้ดมาแรง