‘ฟิวเจอร์ฟู้ด’รุ่ง ชิงตลาดโลก 10 ล้านล้าน CPF-TU-เบทาโกร-ปตท.สั่งลุย

18 ม.ค. 2566 | 06:33 น.

9 เทรนด์อาหารแห่งอนาคตมาแรงปี 66 ปลุกรัฐ-ผู้ประกอบการไทยตื่นตัว ชิงตลาดโลกโต 10 ล้านล้านบาท บิ๊กวงการ CPF-ไทยยูเนี่ยน-เบทาโกร-ปตท. ใส่เกียร์เดินหน้ายึดเบอร์ 1 เอเชีย วอนหนุนสภาพคล่องสตาร์ทอัพยกระดับแข่งขัน

อาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food กำลังเป็นเทรนด์ หรือทิศทางใหม่ของอาหารโลก จากเป็นอาหารที่มุ่งเน้นการผลิตที่ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ โดยหลายหน่วยงานภาครัฐของไทยมีแผนสนับสนุนอาหารแห่งอนาคตตามแผนเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ในฐานะนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากข้อมูลของ Forbes นิตยสารธุรกิจการเงินชั้นนำในสหรัฐฯคาด Future Food ของโลกในปี 2565 จะมีมูลค่าราว 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2566 คาดจะมีมูลค่าราว 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 9.18 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 34 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีอัตราการเติบโตราว 10% ต่อปี และในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 10 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับปี 2563

 

9 เทรนด์อาหารอนาคตมาแรงปี 66

สำหรับในปี 2566 นี้ อาหารแห่งอนาคตของโลกและของไทยที่ต้องติดตามหลัก ๆ มี 9 เทรนด์ ได้แก่ 1.อาหารที่คำนึงถึงโลก สภาพอากาศ และความยั่งยืน 2. Flexitarian vegan foods (มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น) 3. Plant based Food (เนื้อสัตว์จากพืช) ที่ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง 4.โปรตีนทางเลือก/โปรตีนทดแทนที่ยังมีความสำคัญโดยเฉพาะเทรนด์ใหม่อย่าง Alternative seafood 5. Innovative & Smart Produce Food Concept ที่มีบทบาทมากขึ้นในการผลิตอาหาร

 

6.Whole Food (อาหารที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือผ่านการปรุงแต่งน้อย) 7.Immunity Boosting food (อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน/ เสริมสร้างสุขภาพ) 8. New Functional foods (อาหารที่มีสารอาหารหรือคุณค่าอาหารเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ) ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น Vegan egg, Functional Fizzy Drink, Healthy Probiotic & Fiber drink และ 9. Mood Food อาหารที่นอกจากจะดีต่อร่างกายแล้วยังดีต่ออารมณ์ด้วย เช่น CBD FOOD

 

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย

 

“เทรนด์ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น ทั้งเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ และจิตใจโดยให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดการทานเนื้อสัตว์ มีการเปิดใจลองประสบการณ์ใหม่ ๆ รสชาติใหม่เป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดอาหารอนาคตไทย เวลานี้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างสรรค์อาหารอนาคตเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ทั้งในรสชาติอร่อย มีความแปลกใหม่ และยั่งยืนต่อสุขภาพมากขึ้น”

 

 

คาดปี 66 ส่งออกกว่า 1.3 แสนล้าน

ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2565 ไทยมีการส่งออก Future Food มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดส่งออกอาหารโดยรวม โดยการส่งออก Future Food ที่สำคัญอยู่ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ, อาหารเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดจากสารเคมี, อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม และอาหารทางการแพทย์

 

ตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน, สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) และสหราชอาณาจักร, จีน และออสเตรเลีย สัดส่วนส่งออก 42%, 16%, 9.2%, 9% และ 4% ตามลำดับ คาดการณ์ทั้งปี 2565 ไทยจะส่งออก Future Food ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เติบโตราว 24% และในปี 2566 คาดมูลค่าส่งออกจะเท่ากับปี 2565 หรืออาจเติบโตเล็กน้อย เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม เช่น ภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อกำลังซื้อ และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอาหารแห่งอนาคตที่สำคัญทั้งสหรัฐฯและยุโรปชะลอตัว รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

 

‘ฟิวเจอร์ฟู้ด’รุ่ง ชิงตลาดโลก 10 ล้านล้าน CPF-TU-เบทาโกร-ปตท.สั่งลุย

 

“ข้อเสนอแนะภาคเอกชนเพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ต้องจับเทรนด์สินค้าและกลุ่มลูกค้าให้ถูกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับตลาดที่มีกำลังซื้อ เช่น กลุ่มตะวันออกกลาง ทำตลาดส่งออกควบคู่ทำตลาดในประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศรู้จักสินค้าอาหารอนาคตของไทยเพิ่มขึ้น โดยใช้โอกาสการท่องเที่ยวฟื้นตัวประชาสัมพันธ์ผ่านการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก”

 

ส่วนข้อเสนอต่อภาครัฐที่สำคัญคือ ควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารทุกขนาดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ และ SMEs, ส่งเสริมการยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคต คุณภาพ มาตรฐานสินค้า, ยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพและต้นทุนตํ่าลง รวมถึงปรับกฎระเบียบต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอนาคต เป็นต้น

 

บิ๊กวงการชักแถวลุยถ้วนหน้า

“ฐานเศรษฐกิจ”ประมวลความเคลื่อนไหวผู้ประกอบการไทยในเวลานี้ มีความตื่นตัวเรื่อง Future Food เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Plant based Food หรือกลุ่มโปรตีนหรือเนื้อสัตว์จากพืชมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายเล็ก อาทิ CPF ได้เปิดตัวแบรนด์ MEAT ZERO ครอบคลุมทั้งกลุ่มอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง และพร้อมรับประทาน ทำตลาดทั้งในไทยและในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดเนื้อทางเลือกอันดับ 1 ของเอเชีย และ Top 3 ผู้นำเนื้อทางเลือกของโลกใน 3-5 ปี

 

ส่วนไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ส่งแบรนด์ OMG Meat เข้าสู่ตลาด ทั้งในรูปอาหารทะเลจากพืช เช่น ขนมจีบปู หอยจ๊อปู นักเก็ต และรูปแบบที่ไม่ใช่อาหารทะเล เช่น เนื้อไก่ หมู จากพืช, เบทาโกร ส่งแบรนด์ Meatly แพลนต์เบสโปรตีนพรีเมียมที่ให้สัมผัสและรสชาติเสมือนเนื้อหมู เจาะกลุ่ม Flexitarian และคนรุ่นใหม่

 

ขณะที่กลุ่ม ปตท.ส่งบริษัทย่อย(อินโนบิก (เอเซีย)) ร่วมทุนกับบริษัท โนฟ ฟู๊ดส์บริษัทย่อยของ บมจ. เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) ตั้งโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืช กำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี ถือเป็นโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.2566 พร้อมวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ในปีนี้ ยังไม่นับรวมบริษัทขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพ ได้เปิดตัว Plant based Food ไปก่อนหน้านี้จำนวนมาก ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกรุงไทย ระบุ ตลาด Plant based Food ของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดจะมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567

 

ขอรัฐช่วยหนุนสตาร์ทอัพ

ด้าน นายทรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมฯได้มีการพัฒนาสินค้าอาหารอนาคตสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อตอบรับเทรนด์ของโลก รวมถึงสอดรับกับ BCG Model ของรัฐบาลมากขึ้น ควบคู่ไปกับผลิตอาหารหลักแบบดังเดิมที่เป็นอาหารบริโภคปกติ อย่างไรก็ดีอาหารอนาคตส่วนใหญที่ผลิตในไทยเวลานี้อยู่ในกลุ่ม Plant based เป็นเนื้อสัตว์จากพืช หรือโปรตีนทางเลือกที่ใช้ถั่วหลืองเป็นวัตถุดิบหลักในผลิต ที่ผ่านมาถั่วเหลืองในประเทศผลิตได้ไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ขอให้รัฐอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและเพิ่มผลผลิตในประเทศ รวมถึงสนับสนุนเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพในการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อใช้ในการผลิต

 

ขณะที่ นายชนินทร์  ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า แม้ Future Food จะเป็นเทรนด์ใหม่ของอาหารโลก แต่ไม่กระทบการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าจากไทย เพราะเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพในยุคเงินเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยสินค้าทูน่ากระป๋องราคาไม่แพง ขณะสินค้า Future Food มีราคาค่อนข้างสูงตามต้นทุนการผลิตที่มีความสลับซับซ้อนกว่า เพื่อตอบโจทย์คนไม่ทานเนื้อสัตว์ และรักษาสุขภาพ อย่างไรก็ดีหากโควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น Future Food ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3854 วันที่ 19 -21 มกราคม พ.ศ. 2566