“วิศิษฐ์” ชี้ปัจจัยเสี่ยงอื้อ จี้ธุรกิจปรับตัว เลิกอยู่ใน “คอมฟอร์ต โซน”

23 ม.ค. 2566 | 10:34 น.

“วิศิษฐ์”รองประธานหอการค้าไทย ชี้จากนี้ไปธุรกิจไทยไม่สามารถอยู่ในคอมฟอร์ตโซนได้อีก จากมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ข้างหน้ามากมาย ทั้งโลกแบ่งขั้ว เงินเฟ้อ การกีดกันการค้า ต้นทุนสูง ค่าเงินผันผวน แนะว่าที่รัฐบาลใหม่เร่งยกเครื่องอำนวยความสะดวกทำธุรกิจง่าย เพิ่มขีดแข่งขัน

ในงานสัมมนา Geopolitics : The Big Challenge for Business โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (23 ม.ค. 66) ช่วงเสวนา : เอกชนพลิกเกมรับมือโลกขัดแย้ง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวใจความสำคัญว่า

สถานการณ์ความท้าทายที่ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญนับจากนี้ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน, อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับสูงกระทบเศรษฐกิจและกำลังซื้อ, มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่มีเพิ่มขึ้น,ราคาต้นทุนวัตถุดิบ น้ำมัน และบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น และการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศที่ไม่สะดวก ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงาน

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย  

อย่างไรก็ดีนับจากนี้ไปเราคงไม่สามารถอยู่ในคอมฟอร์ต โซน (Comfort Zone) หรือพื้นที่ปลอดภัยได้อีกต่อไป เช่นในแง่การส่งออกไม่ใช่จะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าได้เป็น 2 ปี และจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จำเป็นต้องเจรจาเพื่อส่งมอบสินค้าในเวลาที่สั้นลง ผลิตตามคำสั่งซื้อ ลดการสต๊อกสินค้าลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก แค่ค่าเงินบาท หรืออัตราแลกเปลี่ยนขึ้น-ลงก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมาก เพราะหากค่าเงินบาทไม่สอดคล้องกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ไทยก็จะขายของแพง และไม่มีคนซื้อ

สำหรับไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนต่อจีดีพีค่อนข้างสูง ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมาถือว่ามีความเฮงหรือมีความโชคดี จากดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า และค่าเงินบาทไทยอ่อนค่า ขณะที่มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าสูงขึ้น  เช่น จากราคาน้ำมันหรือราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้วัตถุดิบธัญพืชหลายตัวหายไปจากโลก เช่น ข้าวสาลีหายไป 30% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หายไป 20% ส่งผลราคาปรับขึ้นมา 5-6 เท่าตัว กระทบต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ ราคาเนื้อปศุสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น แต่ไทยยังโชคดีที่สามารถผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตอาหารได้เองกว่า 70% และนำเข้า 30%

 

นอกจากนี้ค่าระวางเรือช่วงที่ผ่านมาสูงกว่าราคาสินค้าบางรายการที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ เงินเฟ้อพุ่ง รัฐบาลปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น

“คำ ๆ แรกที่อยากบอกคือ เราอยู่ในคอมฟอร์ตโซนไม่ได้แล้ว ต้องมีการปรับตัว ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายที่มีอยู่มาก”

“วิศิษฐ์” ชี้ปัจจัยเสี่ยงอื้อ จี้ธุรกิจปรับตัว เลิกอยู่ใน “คอมฟอร์ต โซน”

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและผู้ประกอบการ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มีความท้าทายต่าง ๆ ข้างต้น ได้แก่ การวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบ, ลดต้นทุนการประกอบการให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs เพื่อเพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขัน,สนับสนุนเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง, ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน การเข้าถึงแหล่งทุน การอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจ และการติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต

“การปรับตัวของภาคธุรกิจไทย เช่นแม้เราจะเป็นครัวโลกที่เก่งด้านการเกษตรและอาหาร แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายไปซื้อกิจการเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ในต่างประเทศ แม้ในบางประเทศจะมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์สูง บางประเทศมีการกีดกันการค้า ก็เข้าไปซื้อโรงงานเพื่อเป็นเจ้าของเลย ซึ่งการไปสร้างแบรนด์ในต่างประเทศไม่หมู วิธีที่ดีที่สุดอาจไปซื้อกิจการ ส่วนในสินค้าที่เราทำได้ดีอยู่แล้วก็ควรทำต่อควบคู่กัน ไม่ต้องไปยกเลิกหรือไปสนใจเรื่องที่เป็นนวัตกรรมใหม่อย่างเดียว รวมถึงให้ความใส่ใจเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นทิศทางของโลกที่ไทยและโลกได้ตกลงกันไว้”

“วิศิษฐ์” ชี้ปัจจัยเสี่ยงอื้อ จี้ธุรกิจปรับตัว เลิกอยู่ใน “คอมฟอร์ต โซน”

นายวิศิษฐ์ ยังระบุถึงสิ่งที่ต้องการจากว่าที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่า อยากให้เร่งแก้ไขในเรื่องที่ยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย เช่นเรื่อง การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้มีความง่าย ( Ease of Doing Business) รวมถึงเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ จากปัจจุบันในการขออนุญาตขึ้นทะเบียนธุรกิจต้องผ่านถึง 5-6 กระทรวง และมีถึง 28 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตทำการส่งออก  ซึ่งอยากให้มีการเชื่อมต่อในเรื่องนี้ผ่านระบบดิจิทัล โดยเชื่อมต่อกับธนาคารทั้งในและต่างประเทศด้วย