ม.อ.ต่อยอด‘ไก่เบขลา’ บุกตลาดร้านข้าวมันไก่

29 ม.ค. 2566 | 10:19 น.

เปิดตัวแล้วร้านข้าวมันไก่บ้าน “เบขลา” เจ้าแรกอำเภหาดใหญ่ สงขลา ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.พัฒนาจากสายพันธุ์ลูกผสมไก่เบตง หนุนเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงป้อนตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ณ ร้านบ้านเลขที่ ๘ ถนนหอมหวน ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายปิยะ นิติเรืองจรัส ศิษย์เก่าคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดร้านข้าวมันไก่บ้าน ในชื่อ “บ้านเลขที่ ๘” โดยใช้ไก่เบขลา ที่พัฒนาสายพันธุ์โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. เป็นวัตถุดิบหลัก

ดร.ธัญจิรา เทพรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากร ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า ทางคณะมุ่งพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นบ้านภาคใต้ ซึ่งได้วิจัยต่อเนื่องหลายปี จึงมีองค์ความรู้ มีสายพันธุ์ไก่ในมือ โดยพัฒนาไก่เบตงพันธุ์แท้ขึ้น แต่ไก่เบตงต้องเลี้ยงนานถึง 6 เดือน ทำให้มีต้นทุนสูง ในระดับอุตสาหกรรมไม่สามารถขยายตลาดได้มาก ต้องขายในราคาที่สูงตามไปด้วย และมีตลาดเฉพาะกลุ่ม

ม.อ.ต่อยอด‘ไก่เบขลา’ บุกตลาดร้านข้าวมันไก่

ม.อ.ต่อยอด‘ไก่เบขลา’ บุกตลาดร้านข้าวมันไก่

จึงร่วมมือกับ CPF พัฒนาสายพันธุ์ไก่ลูกผสม โดยใช้ไก่เบตงพันธุ์แท้เป็นพ่อพันธุ์ ผสมกับลูกผสมทางการค้า เกิดเป็นลูกผสมพันธุ์เบตง ที่ใช้ชื่อว่า“เบขลา” ซึ่งมีอัตราการเติบโตเร็ว ต้นทุนการเลี้ยงถูกกว่าไก่เบตงแท้

นอกจากพัฒนาไก่สายพันธุ์ลูกผสม “เบขลา”แล้ว ทางคณะยังนำผลผผลิตไปทดลองทำเมนูอาหารประเภทต่าง ๆ พบว่าไก่เบขลาอายุประมาณ 12 สัปดาห์ เหมาะที่จะทำไก่ย่างหรือไก่อบโอ่ง แต่ไก่ 16 สัปดาห์ จากการเชิญเชฟระดับประเทศมาทดลองปรุง พบว่าตอบโจทย์การทำอาหารหลากหลาย ทั้งไก่ต้ม ไก่ทอด ไก่แกง

ม.อ.ต่อยอด‘ไก่เบขลา’ บุกตลาดร้านข้าวมันไก่

ม.อ.ต่อยอด‘ไก่เบขลา’ บุกตลาดร้านข้าวมันไก่

ประการสำคัญ เมื่อศึกษาเจาะลึกคุณสมบัติความนุ่มฉํ่าของเนื้อไก่เบขลา จึงเริ่มพัฒนาอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งขึ้นมา คือ ไก่ต้มสับและข้าวมันไก่ ซึ่งได้มีการทดลองมาหลายรอบ ซึ่งพบว่าอายุ 16-18 สัปดาห์กำลังเหมาะสำหรับทำข้าวมันไก่ ซึ่งได้ทดลองและพัฒนาเป็นลำดับจนได้สูตรเข้าที่

พอดีมีผู้สนใจจะทำเมนูข้าวมันไก่บ้าน “เบขลา” เป็นร้านแรก ซึ่งเป็นศิษย์เก่าคณะทรัพยากรธรมชาติ ม.อ. และได้เปิดตัวไปเมื่อ 17 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นร้านข้าวมันไก่เลขที่ ๘ ซึ่งทางคณะฯจะต้องป้อนวัตถุดิบให้กับทางร้านคือ ไก่เบขลา”

ดร.ธัญจิรา กล่าวและว่า หลังจากเปิดร้านข้าวมันไก่บ้านร้านแรก ที่ใช้ไก่เบขลาเป็นวัตถุดิบหลัก มีร้านอาหารหลายแห่งติดต่ออยากได้ไก่เบขลาไปทำเมนูไก่ของทางร้านบ้าง ซึ่งทางคณะฯได้วางแผนไว้แล้ว ที่จะผลิตลูกไก่ โดยความร่วมมือกับ CPF ไปให้เกษตรกรรายย่อยให้เป็นผู้เลี้ยง เป็นการสร้างอาชีพ เมื่อโตได้อายุส่งขายคืนคณะฯ เพื่อนำมาทำตลาดและป้อนแก่ธุรกิจร้านข้าวมันไก่

ส่วนการผลิตเพื่อป้อนลูกค้ารายอื่นนั้น ตอนนี้เริ่มดำเนินการแล้ว แบบแรกคือฟาร์มของเครือข่ายเกษตรกรรายย่อย ที่คณะฯโดยสาขาวิชาผลิตลูกไก่ ร่วมกับ CPF และสมาคมศิษย์เก่า ช่วยกันส่งเสริมการเลี้ยงเพื่อป้อนตลาด

อีกกลุ่มเป็นฟาร์มของนักศึกษาในคณะ ที่เตรียมพร้อมสู่การเป็นนักธุรกิจไก่เบขลา ผลิตเพื่อป้อนตลาดผ่านร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์การวิจัยของคณะฯ ที่สมาคมศิษย์เก่าระดมทุนสร้างอาคาร “NR Market Place” ให้เป็นแหล่งบ่มเพาะทักษะการประกอบการให้นักศึกษามีความพร้อม ในการออกไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต

ม.อ.ต่อยอด‘ไก่เบขลา’ บุกตลาดร้านข้าวมันไก่

ด้านนายปิยะ นิติเรืองจรัส เจ้าของร้านข้าวมันไก่เลขที่ ๘ กล่าวว่า จากที่เปิดขายได้ไม่กี่วัน แต่ผลตอบรับถือว่าดี เริ่มรู้จักกันในวงกว้างผ่านสื่อ แต่มีปัญหาบ้างเรื่องฝนตกหนักต่อนเองในพื้นที่ และความพร้อมของพนักงาน ทีมงาน

“ลูกค้าสะท้อนว่า ไก่เบขลาต่างจากไก่ต้มของร้านข้าวมันไก่ทั่วไป ที่ส่วนใหญ่จะใช้ไก่สามสาย โดยไก่เบขลาจะนุ่ม และมีความฉํ่าของเนื้อที่ดีกว่า หนังบางกว่า เป็นคอลลาเจนสูงกว่า ส่วนเมื่อเทียบกับไก่เบตงแท้ ในนํ้าหนักที่เท่ากันไก่เบตงให้ปริมาณเนื้อน้อยกว่า เนื่องจากมีโครงกระดูกใหญ่และหนากว่า เวลาสับจะรู้สึกมือสะท้านมากกว่า ในอนาคตหากเลี้ยงแพร่หลาย มั่นใจว่าตีตลาดไก่สามสายได้แน่”

 

หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,857 วันที่ 29 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566