กรมพัฒน์คำรามโทษหนัก! จีนเทาถือวีซ่าท่องเที่ยว ทำร้านอาหารในไทย

15 ม.ค. 2566 | 08:56 น.

กรมพัฒน์ฯ แจงจีนเทา หรือต่างชาติประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มในไทยต้องได้รับอนุญาตก่อน ชี้ใครฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมเตือนคนไทยเป็นนอมินีโทษหนัก!

กรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารย่านเยาวราชมีข้อกังวลประเด็นชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทย โดยระบุเป็น กลุ่มชาวจีนรุ่นใหม่ที่มาลงทุนโดยใช้นอมินีหรือมีเพียงวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาประกอบธุรกิจหลากหลายประเภทในย่านเยาวราช เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าขาย ฯลฯ

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ เม็ดเงินต่าง ๆ จะกระจายสู่ท้องถิ่นน้อยลง และผู้ประกอบการไทยจะประสบปัญหาในระยะยาว ขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายจะใช้จ่ายผ่านระบบของจีนระหว่างคนจีนกับคนจีนด้วยกัน รวมถึงสามารถเปิดบัญชีได้ แต่ไม่ทราบว่าปลายทางของเงินจะกลับไปอยู่ที่ประเทศต้นทางหรือไม่ แต่ที่เห็นชัดคือ ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกับนักธุรกิจชาวไทยนั้น

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน (15 ม.ค.2566) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดแถลงข่าวด่วน  ในประเด็น “ข้อกังวลชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทย”ผ่านทาง Facebook Live ใจความสำคัญระบุว่า กรณีคนต่างชาติถือวีซ่านักท่องเที่ยวแต่เข้ามาประกอบธุรกิจร้านอาหารในไทยไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ห้ามคนต่างชาติทำ หากต้องการประกอบธุรกิจดังกล่าวในไทยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้

 

“ต่างชาติรายใดหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่น ถึง 5 หมื่นบาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน”

 

นอกจากนี้ขอเตือนคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทยเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 - 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน

 

นายทศพล  ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดแถลงข่าวด่วน(วันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค. 2566)

 

อนึ่ง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 สรุปได้ดังนี้

 

คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชีสาม (19) ท้ายพระราชบัญญัติฯ อย่างไรก็ตามกรมฯ มีมาตรการป้องปรามและตรวจการกระทำในลักษณะนอมินี ดังนี้

 

ขั้นตอนการจดทะเบียน กำหนดให้คนไทยที่ร่วมลงทุนในนิติบุคคลต้องแสดงหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินที่แสดงว่ามีทรัพย์สินเพียงพอที่จะลงทุนในนิติบุคคลได้   

 

เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะตรวจสอบว่ามีการใช้คนไทยถือหุ้นแทนหรือกระทำการในลักษณะนอมินีเพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนประกอบธุรกิจควบคุมตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่

 

ซึ่งการตรวจสอบว่าบุคคลหรือนิติบุคคลใดกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือการตรวจสอบว่าคนไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายที่เข้าข่ายความผิดนอมินีนั้น ต้องปรากฏพฤติการณ์ที่ชัดเจนหรือหลักฐานเอกสารที่แสดงว่าคนไทยมีพฤติกรรมตั้งใจ ปกปิด อำพราง หรือมีการจัดทำเอกสารหลักฐานในลักษณะอำพรางในการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว

 

โดยเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงรวมทั้งพยานเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตรวจสอบ  ปัจจุบันกรมฯ ได้จัดทำเป็นแผนงานตรวจสอบประจำปีซึ่งธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในแผนงานตรวจสอบด้วย

 

กรณีที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบธุรกิจ (จดทะเบียนพาณิชย์ที่สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร เทศบาล หรือ อบต.ที่ร้านค้าตั้งอยู่) เป็นการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจคนเดียว ซึ่งคนต่างชาติไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งหากพบว่ามีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดตามกฎหมายของกระทรวงแรงงานและของกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งหากพบคนไทยมีการจดทะเบียนพาณิชย์แทนคนต่างด้าวก็จะมีความผิดในลักษณะนอมินีด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ กรมฯ จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป