เปิดภารกิจ “กีรติ รัชโน” ปลัดพาณิชย์ป้ายแดง ประคองส่งออก-คุมสินค้า

25 พ.ย. 2565 | 03:17 น.

เปิดภารกิจ “กีรติ รัชโน” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ป้ายแดง กับโจทย์หินประคอง “การส่งออก” รับเศรษฐกิจโลกซึมปีหน้า และการควบคุมราคาสินค้า ติดตามแผนการทำงาน 9 เรื่อง ฟื้นเศรษฐกิจไทย

ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งใหญ่ ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงใหญ่แห่งสนามบินน้ำ สำหรับ กีรติ รัชโน” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้ภารกิจสำคัญที่ต้องทั้งผลัก ทั้งดัน และต้องประคับประคองงานหลัก นั่นคือการดูแลปัญหาปากท้องประชาชน และการขับเคลื่อนการส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศ

 

“งานของกระทรวงพาณิชย์หลัก ๆ ต้องในปีหน้า การส่งออกยังคงเป็นเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจไทย เพียงแต่ว่า ต้องดูเป็นช็อตต่อช็อต หรือดูเป็นเดือนต่อเดือนว่าจะมีปัจจัยอะไรเข้ามากระทบหรือไม่ เพราะความไม่แน่นอนก็ยังมีอยู่ ” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ป้ายแดง ระบุ

 

สำหรับความเสี่ยงที่ประเทศไทยกำลังจะต้องเผชิญในปีหน้า “ปลัดกีรติ” ยอมรับว่า สิ่งที่ต้องจับตาคือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวปีหน้า เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าในตลาดส่งออก เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์ โดยต้องพยายามหาตลาดใหม่ และพยายามรักษาตลาดเดิมเอาไว้ 

 

“กีรติ รัชโน” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ป้ายแดง

ล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้หารือกับภาคเอกชนเพื่อหาทางรุกตลาดต่าง ๆ อย่างเข้มข้นมากขึ้น เช่นเดียวกับการรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าไทยให้ได้รับการยอมรับ และตอบสนองความต้องของของตลาดต่างประเทศ

 

ส่วนเป้าหมายการส่งออกในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2565 ก่อน จากนั้นจึงสามารถประเมินตัวเลขในปีหน้าออกมาได้ในเร็ว ๆ นี้

 

เบื้องต้นแม้ว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะจัดทำประมาณการส่งออกปี 2565 ออกมาแล้วว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1% เมื่อเทียบกับ 7.5% เช่นเดียวกับปริมาณการส่งออกสินค้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1% ชะลอลงจาก 3.2% ในปี 2565 แต่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ มองว่า ตัวเลขจริงน่าจะมากกว่านั้น เพราะอย่างน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะเป็นอะไรที่ไม่น่าตกลง

 

อย่างไรก็ตามมองว่า สิ่งที่จะช่วยสนับสนุนในปีหน้า คือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โมเมนตัมการจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น หลังจากคนคลายกังวลของโควิด-19 แล้ว จึงน่าจะทำให้เศรษฐกิจเริ่มคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว แม้ว่าจีนจะยังไม่มาแต่ก็มีปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในหลาย ๆ ประเทศ ที่เริ่มฟื้นตัวถึง 80% เมื่อเทียบกับภาวะปกติแล้ว

 

“กีรติ รัชโน” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ป้ายแดง

นอกเหนือจากเรื่องการส่งออกแล้ว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังเลาถึงภารกิจหลักที่ต้องพยายามขับเคลื่อนในช่วง 3-6 เดือน นับจากนี้ มีอยู่ด้วยกัน 9 เรื่องสำคัญ ดังนี้

 

1.การลดภาระค่าครองชีพและการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการ 

 

โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน โครงการพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 20 Lot ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการใน Lot 21 และเตรียมขยายเพิ่มเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน รวมทั้งจะเน้นการดูแลราคาสินค้าให้เป็นธรรมทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยมีการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ 

 

2.การบริหารจัดการสินค้าเกษตรโดยใช้การตลาดนำการผลิต 

 

เน้นพืชสำคัญคือ ข้าว และมันสำปะหลัง ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดทำยุทธศาสตร์ออกมารองรับแล้ว พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงการดูแลพืชเกษตรอื่น ๆ ด้วย

 

3.การเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน 

 

ประเมินว่า ตาดส่งออกปีหน้าอาจผันผวนเล็กน้อย จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กำลังหารือกับภาคเอกชน เพื่อประเมินเป้าหมายการส่งออกในปีหน้า ส่วนการค้าชายแดนยังขยายตัวดี โดยในช่วง 9 เดือนปีนี้ มีมูลค่ากว่า 7.73 แสนล้านบาท พร้อมทั้งเร่งประสานงานประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันการเปิดด่านชายแดนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเปิดแล้ว 71 ด่านจากด่านที่มีทั้งหมด 97 ด่าน

 

4.การเร่งรัดการเจรจา FTA 

 

ผลักดันการเจรจา FTA เพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีอยู่ 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ จากนี้จะเร่งรัด FTA อาเซียน-แคนาดา , ไทย-EFTA , ไทย-ตุรกี และ ไทย-ปากีสถาน เช่นเดียวกับ FTA อื่น ๆ ต้องรอดูท่าทีของคู่เจรจาก่อน และยังส่งเสริมการใช้สิทธิให้มากขึ้นด้วย

 

5.การพัฒนาระบบการบริการประชาชน 

 

ผลักดันการจดทะเบียนธุรกิจ บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา บริการข้อมูลการค้าในประเทศและต่างประเทศ และบริการสารสนเทศและกิจกรรมกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นออนไลน์ทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

 

6.การส่งเสริมและพัฒนา SMEs และ MSMEs 

 

ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กให้มีโอกาสทางการตลาด การทำธุรกิจ และส่งออก เน้นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กสามารถส่งออกได้ โดยมีการปรับเงื่อนไขต่าง ๆ ให้น้อยลง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค

 

7.การเร่งรัดการจดทะเบียนและการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา (IP) 

 

ผ่านการเร่งรัดการจดทะเบียนให้เร็วขึ้นโดยนำระบบไอทีเข้ามาช่วย ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาทำงานแทนคน และจะเร่งส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

 

8.การส่งเสริมภาคการผลิตและบริการผ่านการใช้ Soft Power

 

เน้นการส่งเสริม 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ อาหารและร้านอาหารไทย สุขภาพและความงาม สินค้าอัตลักษณ์ไทย เช่น แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ของตกแต่งบ้าน และดิจิทัล คอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ ละคร เกม เอนิเมชัน เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ 

 

9.การขับเคลื่อน Back Office

 

ถือเป็นภารกิจหลัก ทั้งการปรับโครงสร้างการทำงาน การพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับภารกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการดูแลเรื่องปากท้องให้กับประชาชน เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ กำลังเตรียมตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ