สนค.ยันบาทอ่อน กระทบเงินเฟ้อไทยเพียง0.31%

29 ก.ย. 2565 | 09:09 น.

สนค.ยันบาทอ่อน กระทบเงินเฟ้อไทยเพียงเล็กน้อย ทั้งปีโตยังคาดการเงินเฟ้อไม่เกิน6.5% ส่วนค่าบาทอ่อนกระทบต่อผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้า ชี้กนง.ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น0.25% สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่เป็นจริง ณ ตอนนี้

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับอ่อนค่าขณะนี้ว่า แม้ว่าค่าเงินบาทจะแตะระดับที่38บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปเมื่อวานนี้และลงมาที่ระดับ37.93บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเช้าวันนี้(29กันยายน)หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะกระทบกับเงินเฟ้อของไทยให้สูงขึ้นนั้น ต้องบอกว่าการที่ค่าบาทอ่อนค่าเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) 

ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนต่อดัชนีราคาผู้บริโภคโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติของสนค. มี3 กรณี คือ กรณีที่1 อัตราแลกเปลี่ยนเดือนก.ย.-ธ.ค. เท่ากับ36บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อไทย คือ 0.25%  กรณีที่2 อัตราแลกเปลี่ยนเดือนก.ย.-ธ.ค. เท่ากับ37บาทต่อดอลาร์สหรัฐ ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อไทย คือ 0.28% และกรณีที่3 อัตราแลกเปลี่ยนเดือนก.ย.-ธ.ค. เท่ากับ38บาทต่อดอลาร์สหรัฐ ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อไทย คือ 0.31%

 

แต่จะกระทบกับการนำเข้าสินค้าไทยที่มีต้นทุนที่สูงขึ้น และการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย0.25% นั้นสอดคล้องกับเงินเฟ้อที่เป็นจริง เพราะเงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และหลังจากนี้จะทยอยลดลง ซึ่งส่งผลให้ทั้งปีเงินเฟ้อไทยจะอยู่ที่5.5-6.5% เฉลี่ยค่ากลางไม่เกิน6.5%  ซึ่งสนค.ได้ทำการวิเคราะห์ไว้ว่า ถ้ากนง.ทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ0.25%ไปจนถึง1%  จะส่งผลต่อเงินเฟ้อดังนี้ ครั้งที่1 กระทบต่อเงินเฟ้อ 0.08-0.24%  ครั้งที่2 กระทบเงินเฟ้อ0.12-0.36% ครั้งที่3 กระทบเงินเฟ้อ 0.16-0.48% และครั้งที่4 กระทบต่อเงินเฟ้อ0.20-0.80%

“ค่าเงินที่อ่อนค่าในขณะนี้ทำให้ราคาสินค้าของผู้ประกอบการสูงขึ้นจากการนำเข้าสินค้า เพราะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยมีอุตสาหกรรมต้นน้ำน้อยแต่มีอุตสาหกรรมปลายน้ำมาก เช่น สินค้าเกษตร ไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุน  ดังนั้นเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะอยู่ในระดับที่ทรงตัวหรือชะลอตัวโดยมีสัญญาณบวกมาจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวและราคาอาหารโลกเริ่มลดลงรวมถึงมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ เช่น การตรึงราคา  การลดราคาสินค้า ประกอบกับฐานดัชนีที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคมของปีที่แล้วอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อ เช่น  ราคาพลังงานที่ยังผันผวน สภาพอากาศที่แปรปรวน การอ่อนค่าของเงินบาท การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลต่อการผลิต การค้าการขนส่ง เป็นต้น