ทอท.ขยายสนามบินสร้างเกตเวย์เข้าไทยครบทุกภาค รุกขับเคลื่อนสนามบินสีเขียว

20 ธ.ค. 2566 | 10:37 น.

ทอท. รุกลงทุนพัฒนาสนามบิน ขยายศักยภาพรองรับผู้โดยสารพุ่ง พร้อมเตรียมรับโอนสนามบินทย. เพิ่มสนามบินใหม่เข้าพอร์ต ดันเกตเวย์การเดินทางของไทย ครอบคลุมความจำเป็นในการเดินทางทุกภูมิภาค ทั้งเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาสนามบินสีเขียว

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท.หรือ AOT กล่าวในงานสัมมนาเวที Go Thailand 2024 ซึ่งจัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ในหัวข้อ “ Next Step ลงทุนไทย” โดยกล่าวถึง “Blue Ocean โอกาสและการพัฒนาท่าอากาศยานของทอท.” ว่าหัวใจหลักของทอท.คือการเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานที่ดี ดังนั้นเราต้องบริการสนามบิน ซึ่งเป็นจุดแรกที่นักท่องเที่ยวเข้าไทย เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากที่สุด ทำให้ผู้โดยสารเกิดความประทับใจ

ทอท.ขยายสนามบินสร้างเกตเวย์เข้าไทยครบทุกภาค รุกขับเคลื่อนสนามบินสีเขียว
 

โดยเราได้แก้ Pain point ต่างๆโดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเมเจอร์ ฮับ ของประเทศไทย จากภาพจำในอดีต ที่ผู้โดยสารหนาแน่นในโซนพักคอย รวมถึงเที่ยวบินที่ต้องบินวนรอลง โดยพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการให้บริการของสนามบินเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่ในขณะนี้ได้เปิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) พร้อมทั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2566

ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 50 ล้านคนต่อปี เป็น 65 ล้านคนต่อปี การเตรียมจะเปิดให้บริการรันเวย์ 3 เพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รวมถึงการเตรียมขยายอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่สนามบินดอนเมืองก็จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศโดยเฉพาะ รวมถึงจังชั่น เทอร์มินัล ที่เป็นอาคารเชิงพาณิชย์ และปรับรวมพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และหลังที่ 2 ทำเป็นอาคารโดเมสติก รับผู้โดยสารในประเทศ ลงทุนกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 35 ล้านคนเป็น 50 ล้านคน เปิดประมูลปลายปี 2567  แล้วเสร็จในปี 2570

ทอท.ขยายสนามบินสร้างเกตเวย์เข้าไทยครบทุกภาค รุกขับเคลื่อนสนามบินสีเขียว

ส่วนสนามบินภูมิภาค อย่าง สนามบินเชียงใหม่ จะไปสร้างอาคารหลังใหม่สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ และปรับอาคารเดิมเป็นโดเมสติก เพราะเราต้องการเพิ่มอินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์  ขณะที่สนามบินภูเก็ต จะเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารอีกเท่าตัว ที่จะสร้างอีกอาคารเพื่อเชื่อมกับอาคารอินเตอร์หลังใหม่ที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน ทำให้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย และหาดใหญ่ ก็มีแผนจะสร้างเทอร์มินัลหลังใหม่ และปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น
 

นอกจากนี้ทอท.ยังมีแผนจะลงทุนสร้างสนามบินใหม่อีก 2 แห่ง คือ สนามบินนานาชาติอันดามัน ที่โคกกลอย จ.พังงา และสนามบินนานาชาติล้านนา ที่อ.บ้านธิ จ.ลำพูน รองรับผู้โดยสารแห่งละ 20 ล้านคนต่อปี มี 2 รันเวย์ ซึ่งทอท.เตรียมจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงพื้นที่ของสนามบิน ตอนนี้ยังไม่ได้มีกำหนดพื้นที่ใดของสนามบินแต่อย่างใด และเปิดประมูลต่อไป

สำหรับการรับโอนสนามบินจากกรมท่าอากาศยานไทย (ทย.) อย่างสนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ สนามกระบี่ จะทำให้เราเป็นเกตเวย์ในการเดินทางของไทย ครอบคลุมความจำเป็นในการเดินทางทุกภูมิภาค และในสนามบินเหล่านี้ทอท.ก็ต้องลงทุนเพื่อพัฒนาสนามบิน และสร้างโนฮาว ในการดึงสายการบินต่างชาติเข้าไปเปิดทำการบินในสนามบินต่างๆเหล่านี้ ที่ก็จะเป็นการเปิดตลาดใหม่ และลดการแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะเดียวกันทอท.ในฐานะเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีมาร์เก็ตแคปในไทย 9 แสนล้านบาท ก็ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาสนามบินสีเขียว เราเป้าต้องการให้เป็นองค์กร Net Zero ภายใน 10 ปี  โดยในช่วง 5 ปีแรก จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลง 50% อาทิ การเปลี่ยนการใช้ไฟฟ้า มาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงเดย์ไทม์ เพราะถูกกว่าการจ่ายค่าไฟฟ้า 30% ซึ่งเราเริ่มลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิ และต่อไปก็จะไปทำที่สนามบินอื่นๆของทอท.ด้วย รวมถึงจะต้องหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะผลิตไฟฟ้าส่วนเกินในช่วงกลางวัน เพื่อนำกลับมาใช้ตอนกลางคืน

รวมถึงการเชิญชวนผู้ประกอบการทั้งอีโคซีสเต็ม เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าในพื้นที่แอร์ไซต์ และการทำงานร่วมกับสายการบิน ในการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงยั่งยืน (SAF) ที่เราจะลงทุนร่วมกับผู้ผลิตน้ำมัน เพราะการผลิต น้ำมัน SAF เป็นเรื่องสำคัญในทศวรรษต่อไป เพราะในปี 2025   สายการบินที่บินเข้ายุโรปต้องใช้น้ำมัน SAF ราว 3% และเพิ่มเป็น 15% ในสเต็ปต่อไป