“สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว” เตรียมเปิดตัวเป็นทางการ ดีเดย์ ม.ค. 67

11 ธ.ค. 2566 | 05:11 น.

“สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว” มูลค่ากว่า 6,000 ล้าน ฝั่ง สปป.ลาว บนพื้นที่ 1,875 ไร่ พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 26 มกราคม 2567 หวังกระตุ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เตรียมจะเปิดสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว อย่างเป็นทางการ ในวันที่ี 26 มกราคม 2567 ซึ่งตรงกับช่วงการจัดงานเทศกาลดอกงิ้วบาน ครั้งที่ 21 โดยถือฤกษ์ตามปฏิทินจีนถือ ตรงกับปีมะโรง ปีงูใหญ่ หรือปีมังกร ที่บ่งบอกถึงการเจริญเติบโต และ การเกิดใหม่ หลังจากรัฐบาลสปป.ลาวได้อนุมติให้มีการก่อสร้างสนามบินดังกล่าวเมื่อปี 2563 บนพื้นที่ 300 เฮกตาร์ หรือ 1,875 ไร่โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ด้วยงบประมาณการลงทุนมูลค่าการลงทุนเกือบ 6,000 ล้านบาท

 ก่อนหน้านี้ รัฐบาล สปป.ลาว เคยมีสนามบินอยู่ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว แต่ปัจจุบันเลิกใช้งาน และให้กลุ่มดอกงิ้วคำ ที่เข้ามาสัมปทานพื้นที่เมืองต้นฝึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะเวลา 99 ปี ได้มีข้อตกลงให้มีการสร้างสนามบินขึ้นใหม่ เพื่อยกระดับระบบคมนาคมทางอากาศ ระหว่างพื้นที่ตอนเหนือของ สปป.ลาว กับ เวียงจันทน์ และ ต่างประเทศ โดยสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ตั้งอยู่ห่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เพียง 5 กิโลเมตร ถูกออกแบบอาคารเหมือนนกอินทรีย์กางปีก และใช้สัญลักษณ์ของดอกงิ้วคำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสนามบินนานาชาติแห่งนี้

สำหรับสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ได้ก่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีรันเวย์ยาว 2,500 เมตร และ กำลังจะขยายเพิ่มเป็น 4,000 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 แอร์บัส A320 A321 หรือเครื่องบินที่มีขนาดความจุไม่เกิน 200 ที่นั่ง ส่วนอาคารผู้โดยสารถูกออกแบบให้รองรับผู้โดยสารได้ 2 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันได้มีการเปิดทดลองใช้เส้นบินภายในประเทศระหว่างสนามบินบ่อแก้ว-เวียงจันทน์ โดยสายการบินลาวแอร์ไลน์ และ ลาวสกายเวย์ ภายใต้การดูแลของกรมการบินพลเรือน สปป.ลาว และจะถือได้ว่าเป็นสนามบินขนาดใหญ่ของ สปป.ลาว และเป็นยุทธศาตร์สำคัญของพื้นที่ตอนเหนือของสปป.ลาว

จ้าว เหว่ย ประธานเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ สปป.ลาว กล่าวว่า การสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว เป็นหนึ่งในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โดยทางกลุ่มดอกงิ้วคำ ในเครือจินมู่เหมียน เป็นผู้ลงทุน และเตรียมจะส่งมอบให้ทางรัฐบาล สปป.ลาว เข้ามาดำเนินการ โดยเป้าหมายต้องการจะรองรับนักท่องเที่ยว และ นักธุรกิจจากทั่วโลก เนื่องจากตามแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจะถูกยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมระดับเอเชีย การมีสนามบินนานาชาติ จะตอบโจทย์การเดินทางของคนจากทั่วโลกได้

จ้าว เหว่ย  ประธานเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ สปป.ลาว

 

 

“สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว”

ในเบื้องต้นสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ได้เปิดเส้นทางบินระหว่างบ่อแก้ว-เวียงจันทน์มากกว่า 1 ปี มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการหลักแสนคน และ ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีแผนเปิดเส้นทางบินเชื่อมต่อกับเมืองต่างๆ ภายในประเทศของ สปปป.ลาว และ จะเปิดเส้นทางบินระหว่างบ่อแก้ว-เชียงใหม่-กรุงเทพ, บ่อแก้ว-เชียงใหม่-ภูเก็ต ส่วนแผนเส้นทางบินในต่างประเทศ อาจจะเริ่มต้นเชื่อมโยงไปยังฮ่องกง, มาเก๊า และ เมืองต่างๆในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสายการบินน่าจะมีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 2 สายการบิน และแม้ว่าจะมีทำเลที่ตั้งใกล้กับสนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง แต่ก็ไม่ใช่คู่แข่งกัน ในทางตรงกันข้าม พร้อมที่จะพัฒนาระบบคมนาคมทางอากาศร่วมกัน

สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว

“การลงทุนของเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความต่อเนื่อง มากกว่าแสนล้านบาท โดยจะเน้นไปที่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินนานาชาติ, การก่อสร้างถนน 4 เลน แล ะการสร้างท่าเรือน้ำลึก การสร้างฟาร์มปศุสัตว์ นอกจากนี้ มีการสร้างโรงเรียนระดับประถม , การสร้างอาคาร, การสร้างที่พักอาศัย ในรูปแบบคอนโดมิเนียม การสร้างโรงแรม, ร้านอาหาร,ห้างสรรพสินค้า, การสร้างสนามกอลฟ์ 54 หลุม และการสร้างตลาดน้ำนานาชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อพัฒนาให้มีความพร้อมเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในเอเชีย ” จ้าวเหว่ย กล่าว

 

“สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว”

 

“สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว”

ภายในอาคาร “สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว”

 

ด้าน น.ต.สมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ฝั่งสปป.ลาว จะอยู่ห่างจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ประมาณ 60 กิโลเมตร ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เลือกเดินทางเข้า เขตเศษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ สปป.ลาว หรือ จังหวัดเชียงราย เป็นคนละกลุ่มเป้าหมาย ในอนาคตมองว่าจะเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน มากกว่าจะเป็นคู่แข่ง โดยปัจจุบันนี้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จะมีกลุ่มผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มเช่าเหมาลำ และ กลุ่มไพรเวทเจ็ท โดยล่าสุด เพิ่งไปโรดโชว์ประเทศเกาหลี และไต้หวัน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางบินมาจังหวัดเชียงราย