ลุ้นปี 67 “อีอีซี” ปิดดีล สางปัญหาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน-เมืองการบินฯ

11 ธ.ค. 2566 | 02:50 น.

13 ธ.ค.นี้ “อีอีซี” จ่อถกรฟท.-เอกชน นัดสุดท้าย สางปัญหาแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ฟากรฟท.เล็งชงอัยการสูงสุดไฟเขียวเอกชนเมินรับบัตรส่งเสริม BOI ลุ้นตอกเสาเข็มไฮสปีด ม.ค. 67 หลังโครงการดีเลย์ เผยแผนคืบหน้า 3 เมกะโปรเจ็กต์

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น เบื้องต้นที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงการลงทุน เพื่อให้เดินหน้าตามแผนงานกำหนดจะทยอยเริ่มงานก่อสร้างภายในปี 2567โดยเฉพาะโครงการลงทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยที่ประชุมมีมติให้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไทถึงบางซื่อให้เสร็จภายใน พ.ค.2567 ส่วนพื้นที่อื่น มีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (transit oriented development, TOD) แล้ว 

 

นายจุฬา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย รฟท. อีอีซี และเอกชน ในรอบสุดท้ายถึงการหารือร่วมกับเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อส่งร่างฯสัญญาต่อสำนักอัยการสูงสุดตรวจสอบ หากสำนักอัยการสูงสุดตอบกลับแล้วต้องส่งกลับมาที่ กพอ.หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติลงนามสัญญาใหม่ต่อไป 

 

“ปัจจุบันโครงการจะมีความล่าช้ามามากแล้ว คำขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน BOI ที่ทางเอกชนดำเนินการไว้จะหมดอายุการออกบัตรในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ดังนั้นจึงมีกรอบกำหนดที่จำเป็นต้องเร่งรัด เพราะหากบัตร BOI หมดอายุก็ต้องดำเนินการขอพิจารณาต่ออายุ ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลาในการพิจารณา”
 

ขณะเดียวกันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเตรียมออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ซึ่งในเงื่อนไขของการออก NTP ระบุไว้ว่าเอกชนคู่สัญญาจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งผลให้ขณะนี้สถานะดำเนินการจึงคงเหลือแต่รอให้เอกชนคู่สัญญาส่งเอกสารไปที่ BOI เพื่อรับบัตรส่งเสริมการลงทุน เพื่อครบเงื่อนไขเริ่มต้นโครงการที่กำหนดในสัญญา ซึ่งรฟท.จะเร่งรัดเอกชนคู่สัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนม.ค. 2567 

 

“ขณะนี้รฟท.ได้ใช้สิทธิในการขอพิจารณาออกหนังสือ NTP เนื่องจากในเงื่อนไขการออกหนังสือระบุว่าทางเอกชนจะต้องได้รับ BOI ก่อน แต่เนื่องจากปัจจุบันติดเพียงปัญหาเดียว ซึ่งการรถไฟฯ เตรียมพื้นที่พร้อมส่งมอบแล้ว เรื่องนี้จึงได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาเงื่อนไข หากตีความว่าสามารถส่งมอบพื้นที่ได้โดยไม่ต้องรอ BOI ก็จะทำให้โครงการนี้เริ่มตอกเสาเข็มตามแผนในปีหน้า”

 

ทั้งนี้การดำเนินงานของโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน จะทำงานคู่ขนานระหว่างการยื่นขอตีความจากอัยการสูงสุดในประเด็นส่งมอบพื้นที่ออก NTP โดยไม่ต้องรอเอกชนรับบัตรส่งเสริม BOI และดำเนินงานส่วนของการขอพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมทุนใหม่ ซึ่งงานก่อสร้างไม่จำเป็นต้องรอให้การแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จ เพราะรายละเอียดของการแก้ไขสัญญา มีประเด็นสำคัญในการพิจารณาเรื่องถ้อยคำเหตุสุดวิสัย และการทำแนวท้ายสัญญาเรื่องแบ่งจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์

นายจุฬา กล่าวต่อว่า หาก ครม.เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาและมีการลงนามร่วมกับเอกชนแล้วนั้น ทางเอกชนจะต้องเริ่มจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่เสนอขอผ่อนจ่ายรวม 7 งวด แบ่งเป็น งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน  5,328.47 ล้านบาท โดยเมื่อลงนามสัญญาแล้วเสร็จ เอกชนจะต้องจ่ายค่าสิทธิรวม 3 งวด ย้อนหลังของปี 2564 – 2566 ส่วนที่เหลืออีก 4 งวดจ่ายตามกำหนดสัญญาภายในวันที่ 24 ต.ค.ของแต่ละปี

 

ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ปัจจุบันกองทัพเรือเตรียมประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่ง 2 และทางขับ ภายในกลาง ธ.ค.นี้ โดยที่ประชุมได้เร่งรัดให้ สกพอ. ,รฟท. และเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินและสนามบินอู่ตะเภา สรุปแผนการทำงานร่วมกันในส่วนของโครงสร้างร่วมบริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ธ.ค.นี้ และโครงการสนามบินอู่ตะเภา จะเริ่มก่อสร้างได้ภายใน ม.ค. 2567 

 

ด้านความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งรัด และกำกับการก่อสร้างงานถมทะเล (Infrastructure) ให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที้ให้เอกชนคู่สัญญาภายใน พ.ย. 2568 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือ (Superstructure) ในส่วนท่าเรือ F1 แล้วเสร็จและเปิดบริการปลายปี 2570 

 

นอกจากนี้โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีมติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ติดตามการถมทะเล (Infrastructure) ของเอกชนคู่สัญญา ให้แล้วเสร็จภายในธ.ค. 2567 โดยปัจจุบันงานมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 69.64% และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือก๊าซเสร็จและเปิดบริการต้นปี 2570