"พิธา"รับลูกข้อเสนอสมาคมสายการบินประเทศไทย ฟื้นธุรกิจสายการบิน

11 ก.ค. 2566 | 13:51 น.

"พิธา"รับลูกข้อเสนอสมาคมสายการบินประเทศไทย หนุนแก้ปัญหา 3 เรื่องหลักฟื้นธุรกิจสายการบิน-การท่องเที่ยว โดย 7 สายการบินต้องการให้รัฐบาลใหม่ แก้ปมปัญหาต้นทุนสายการบิน ทบทวนภาษีน้ำมันเครื่องบิน

วันนี้(วันที่ 11 กรกฎาคม 2566) สมาคมสายการบินประเทศไทย หารือร่วมกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เเละคณะเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ผลักดันมาตรการสำคัญเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูธุรกิจสายการบินให้เเข็งเเกร่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ 

 

พร้อมรับฟังนโยบาย ปัญหา และข้อเสนอเเนะ สู่การให้ประเทศไทยเป็นฮับการท่องเที่ยวเดินทางในภูมิภาค โดยมีซีอีโอและผู้บริหารรวม 7 สายการบินร่วมหารือ

การหารือครั้งนี้สมาคมสายการบินประเทศไทย ได้หารือกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เพื่อต้องการให้รัฐบาลใหม่ แก้ปมปัญหาต้นทุนสายการบิน ทั้งด้านภาษีน้ำมัน อัตราผลตอบแทนที่จ่ายให้หน่วยที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงแผนกระตุ้นฝั่งดีมานด์ไซด์หวังหนุนอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของประเทศให้แข่งขันกับต่างประเทศได้

\"พิธา\"รับลูกข้อเสนอสมาคมสายการบินประเทศไทย ฟื้นธุรกิจสายการบิน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนติเดตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 แถลงผลการหารือว่า เป็นประเด็นที่มีการหารือส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยบางส่วนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง

\"พิธา\"รับลูกข้อเสนอสมาคมสายการบินประเทศไทย ฟื้นธุรกิจสายการบิน

ทั้งนี้เนื้อหาที่มีการพูดคุยกันวันนี้มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยว คมนาคม และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องโครงสร้างที่เกี่ยวกับการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมที่มีเพียง 2 แห่งในประเทศ แต่สายการบินทั้ง 7 สายการบินต้องไปซ่อมบำรุงในต่างประเทศ 

\"พิธา\"รับลูกข้อเสนอสมาคมสายการบินประเทศไทย ฟื้นธุรกิจสายการบิน

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้มีการกำหนดประเด็นเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลชุดต่อไปในการแก้ไขปัญหา 3 เรื่อง ได้แก่

1.เรื่องต้นทุน ที่เกี่ยวข้องกับภาษีต่างๆ ที่ทางสายการบินที่ต้องจ่ายให้รัฐ ซึ่งกระทบกับประชาชน เพราะส่งผลต่อราคาตั๋วโดยสาร

2.ต้นทุนที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่บังคับการใช้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งประมาณ 15-20% โดยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้จะดูว่าสัดส่วนดังกล่าวสูงเกินไปหรือไม่ หรืออัตราที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบต่อราคาตั๋วโดยสารเช่นกัน

3.เรื่องการกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวกับดีมานด์ไซด์และการบริหารรายได้ของสายการบิน เช่น การเปิดให้เดินทางเข้ามาของ 3 ประเทศคือ อินเดีย เกาหลีใต้ และจีน ซีงต้องดูเรื่องความสมดุลย์และความเหมาะสมของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้การเจรจาระหว่างประเทศเกิดความยุติธรรม

\"พิธา\"รับลูกข้อเสนอสมาคมสายการบินประเทศไทย ฟื้นธุรกิจสายการบิน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องวีซ่า ซึ่งหลายประเทศเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าแบบฟรีวีซ่า ซึ่งสามารถเลือกประเทศและเลือกช่วงเวลาที่ต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบินด้วย

ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ อุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่าสมาคมสายการบินประเทศไทย ได้เสนอข้อหารือพิจารณานโยบายที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการ สร้างความเเข็งเเกร่ง ลดข้อจำกัด เเละเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจสายการบิน ซึ่งจะตอบโจทย์การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบค่าโดยสาร 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 

1.การส่งเสริมนโยบายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เช่น การกำหนดอัตราที่เหมาะสมของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน (excise tax) ฯลฯ

2.การเร่งแก้ไขอุปสรรคและข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการบินไทย เช่น เร่งกระบวนการเพิ่มอุปทานของอุตสาหกรรมการบิน หรือ ขั้นตอนการนำเข้าเครื่องบิน  การบูรณาการทำงานระหว่างสนามบินและสายการบิน

\"พิธา\"รับลูกข้อเสนอสมาคมสายการบินประเทศไทย ฟื้นธุรกิจสายการบิน

3.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมการบิน เช่น การเจรจาเพิ่มสิทธิการบิน ในประเทศกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวไทย การลดค่าธรรมวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้เนื่องจากการเดินทางทางอากาศถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภาพรวมของประเทศ เพราะเป็นผู้เชื่อมต่อการสร้างเเละกระจายรายได้สู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงการฟื้นฟูที่สำคัญที่สุด ซึ่งต้องอาศัยทั้งการปรับตัวของสายการบิน เเละการสนับสนุนต่อเนื่องจากภาครัฐ 

การหารือร่วมกันในวันนี้จะทำให้ว่าที่รัฐบาลใหม่เห็นภาพสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจการบินในทุกมิติ แผนการฟื้นตัว และข้อเสนอเร่งด่วน โดยสมาคมสายการบินประเทศไทยยืนยันความพร้อมเต็มที่ในการทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน นายธรรศพลฐ์กล่าวทิ้งท้าย