วันนี้! สมาคมสายการบินหารือพิธา หนุนทบทวนเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน

10 ก.ค. 2566 | 18:00 น.

วันนี้! สมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย รวม 7 สายการบิน นัดหารือพิธา ขอแรงหนุนทบทวนเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน หลังสรรพสามิตแจงไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน ชี้มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย หลังอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ

วันนี้(วันที่ 11 กรกฏาคม 2566) สมาคมสายการบินประเทศไทย โดยสายการบิน 7 สาย ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สายการบินไทยสมายล์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ได้นัดหมายหารือร่วมกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เเละคณะเปลี่ยนผ่านรัฐบาล 

 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันผลักดันสานต่อนโยบายสนับสนุนการฟื้นตัวของ
ธุรกิจสายการบิน เเละอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งนี้เรื่องหลักๆที่จะมีการหารือใน 2 เรื่องหลักที่สายการบินอยากเรียกร้อง ได้แก่

เรื่องที่ 1 สมาคมสายการบิน จะขอให้นายพิธา ผลักดันการทบทวนเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หลังสรรพสามิตแจงไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน ชี้มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย หลังอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ

โดยสมาคมสายการบินประเทศไทย วอนภาครัฐทบทวนการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (excise tax) สำหรับเส้นทางในประเทศ ลดต้นทุน ผลกระทบค่าโดยสาร หลังธุรกิจการบินและท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มฟื้นตัว

เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต จะกลับมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (excise tax) สำหรับเครื่องบินไอพ่น ในอัตรา 4.726 บาทต่อลิตร จากที่เคยมีมาตรการช่วยเหลือเรียกเก็บในอัตรา 0.20 บาทต่อลิตร ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนที่สูงขึ้นของสายการบินที่ให้บริการเส้นทางในประเทศ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารของเเต่ละสายการบินนั้น

เรื่องที่ 2 การผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติแผนการโอนเครื่องบินของสายการบิน เนื่องจากที่ผ่านมาหลายสายการบินได้ทำแผนปลดระวางเครื่องบินที่จะประจำฝูงบินออก ทั้งการขายและคืนเครื่องรวมกว่า 10 ลำ แต่ติดปัญหาเมื่อทำเอกสารรายละเอียดแผนมายังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประทศไทย(กพท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังไม่ได้รับการอนุมัติ 

จากปัญหานี้ทำให้สายการบินประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทันที  เนื่องจากเครื่องบินบางสายการบินได้ขายเครื่องได้แล้ว แต่ไม่สามารถส่งเครื่องบินให้กับผู้ซื้อได้ ขณะเดียวกันเครื่องบินที่จอดการจำหน่าย หรือ คืน ก็ต้องเสียค่าบำรุงรักษา ค่าจอด เป็นต้น 

นอกจากนั้นทางภาครัฐยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการจัดทำแผนธุรกิจ เนื่องจากระยะเวลาเสนอแผนรายละเอียดมายัง หน่วยงานรัฐทั้ง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) คณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน  เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

กว่าจะมีการพิจารณา ก็ไม่สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่เสนอไปแล้ว ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่คณะกรรมการกลั่นกรองแผนธุรกิจ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ  กบร. หมดวาระ จึงทำให้ไม่มีการพิจารณาอนุมัติ 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ อยากให้กระทรวงการคลังทบทวนมาตรการในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันอีกครั้ง โดยพิจารณาจัดเก็บอัตราภาษีที่ 0.20 บาทต่อลิตร หรือทยอยเพิ่มภาษีตามอัตราขั้นบันได หรือกำหนดอัตราภาษีใหม่ที่เหมาะสม

เนื่องจากปัจจุบันยังคงเป็นช่วงฟื้นตัวสำคัญของธุรกิจการบิน และท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นโอกาสในการกระตุ้นส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ที่สำคัญมาตรการดังกล่าวจะช่วยควบคุมราคาค่าโดยสารภายในประเทศได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมสายการบินประเทศไทย ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวง การคลังเเละกรมสรรพสามิต ในการติดตามพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลา ลดอัตราภาษีน้ำมันสำหรับเครื่องบินไอพ่น อย่างต่อเนื่อง หลังธุรกิจสายการบินและท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยาวนานกว่า 3 ปี