ครึ่งปีหลังต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่ม แต่ใช้จ่ายต่อทริปต่ำกว่าก่อนโควิด

10 มิ.ย. 2566 | 22:27 น.

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" มองทั้งปีต่างชาติเที่ยวไทย 28.5 ล้านคน สร้างเม็ดเงิน1.33 ล้านล้านบาท แต่การใช้จ่ายต่อทริปยังต่ำกว่าก่อนการระบาดของโรคโควิด

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" คาดการณ์การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าก่อนเกิดการระบาดโควิดแม้ครึ่งปีหลังจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแต่ค่าใช้ต่อทริปยังต่ำกว่าช่วงโควิด พร้อมชี้รัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ปัญหาต้นทุนการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน-ภาษี

ครึ่งปีหลังต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่ม แต่ใช้จ่ายต่อทริปต่ำกว่าก่อนโควิด
ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าก่อนเกิดการระบาดโควิด แม้มองว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดชาวต่างชาติเที่ยวไทยยังฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง และทั้งปี 2566 น่าจะมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 28.5 ล้านคน แต่การท่องเที่ยวยังมีหลายโจทย์ที่ยังเป็นอุปสรรค อาทิ ความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่ยังมีข้อจำกัด และยังต้องใช้เวลา การปรับรูปแบบการยื่น E-Visa ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนในระยะสั้น

โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวแบบกลุ่มทัวร์ขนาดใหญ่ ซึ่งคงต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัวและสร้างความคุ้นชินกับระบบการใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงยังต้องติดตามปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจมีผลต่อการฟื้นตัวของตลาดในช่วงที่เหลือของปี

 

ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและที่พักยังมีโจทย์ท้าทายรออยู่ แม้ประเมินว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท แต่การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่อทริปยังต่ำกว่าก่อนการระบาดของโรคโควิด ขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจยังไม่ทั่วถึงและยังกระจุกตัวแต่เมืองท่องเที่ยวหลัก และที่สำคัญต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านแรงงานที่ไม่เพียงแต่ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าโจทย์สำคัญของภาคการท่องเที่ยวสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ ในระยะสั้น คงจะได้แก่ การดูแลประเด็นต้นทุนการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน ประเด็นต้นทุนแรงงานของธุรกิจท่องเที่ยว เป็นเรื่องที่คาอยู่มาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งและคงเป็นโจทย์ต่อเนื่องหลังจากนี้ไม่ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับขึ้นตามนโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม

 

โดยแรงกดดันนี้มาจากทั้งปริมาณแรงงานที่ต้องเติมเพื่อรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจ และความคาดหวังของแรงงานว่าจะได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น ถึงแม้ว่าธุรกิจอาจจะไม่ได้จ้างแรงงานอิงตามค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมดก็ตาม ดังนั้น การเร่งพัฒนาผลิตภาพแรงงาน จึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่อาจพิจารณาแนวทางการให้แรงจูงใจด้านภาษีหรืออื่นๆ หากผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้มากกว่าอัตราการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ธุรกิจมีการปรับใช้เทคโนโลยีได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ เป็นต้น

 

นอกจากโจทย์ต้นทุนการดำเนินธุรกิจแล้ว การท่องเที่ยวยังมีโจทย์สำคัญด้านนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจน อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและการใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น

 

การผลักดันนโยบายการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้สู่เมืองท่องเที่ยวรอง และโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งภาครัฐคงต้องเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้พัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ESG) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น