สำนักข่าว นิกเกอิ เอเชีย สื่อธุรกิจรายใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานวานนี้ (7 มิ.ย.) ระบุ การเปิดตัวของ สายการบินใหม่ อย่างน้อย 4 ราย จะเป็นการกระตุ้นการแข่งขันใน ตลาดการบินของไทย เพิ่มความท้าทายให้กับบรรดาสายการบินรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม ที่ต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการดำเนินงานอื่น ๆ
สายการบินเรียลลีคูลแอร์ไลน์ (Really Cool Airlines) คาดว่าจะเป็นสายการบินแรกที่เริ่มดำเนินการ โดยจะเริ่มให้บริการในเดือนธ.ค. ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330 และแอร์บัส A350 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ
ทั้งนี้ นายพาที สารสิน อดีตซีอีโอของนกแอร์ (Nokair) ถือหุ้น 51% ของสายการบินเรียลลีคูลแอร์ไลน์ โดยนายพาทีก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอนกแอร์ในปี 2560 หลังจากบริหารสายการบินมาราว 14 ปี เนื่องจากแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำที่ต้องพี่งพาเม็ดเงินจำนวนมาก
ต่อมาเป็น สายการบินแลนดาร์ช แอร์ไลน์ (Landarch Airines) คาดว่าจะเริ่มให้บริการในไตรมาสแรกของปี 2567 ด้วยเครื่องบิน 12 ที่นั่ง โดยกำหนดเป้าหมายผู้โดยสารที่บินระหว่างเมืองใหญ่ และเมืองชายหาดทางภาคใต้ของไทย
รายที่สาม สายการบินพี 80 แอร์ (P80 Air) ซึ่งโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (Thoresen Thai Agencies) บริษัทชั้นนำด้านการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่มีกลุ่มธุรกิจการขนส่งทางเรือ เป็นผู้ถือหุ้น 99% มีแผนการเปิดตัวด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 โดยเน้นจุดหมายปลายทางไปยังหลายเมืองในจีน
ด้าน สายการบินสยาม ซีเพลน (Siam Seaplane) มีแผนให้บริการเครื่องบิน 8 ที่นั่งในเส้นทางที่เป็นเมืองชายหาดที่มีชื่อเสียง เช่น หัวหิน พัทยา และเกาะต่าง ๆ ทางภาคใต้ของไทย
"ปีนี้จะเป็นช่วงเวลาทองของการฟื้นตัวในธุรกิจการบิน หลังจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา" นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรีกล่าว พร้อมเสริมว่าประมาณ 93% ของอุปสงค์ด้านการเดินทางทางอากาศนั้นมาจากภาคการท่องเที่ยว
ก่อนช่วงการแพร่รระบาดของโรคโควิด-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวและนักเดินทางเพื่อทำธุรกิจเดินทางเข้าประเทศมากกว่า 80 ล้านคนในปี 2562 แต่ลดลงเหลือเพียง 20 ล้านคนในปี 2564 เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางทางอากาศทั่วโลก
ข้อมูลอ้างอิง