เมืองการบินอู่ตะเภาสะดุด ติดล็อกรัฐส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ UTA ขอลดขนาดเฟส1

25 มี.ค. 2566 | 00:30 น.

เมืองการบินอู่ตะเภาสะดุด UTA แจงติดล็อกเงื่อนไข EHIA-รันเวย์2-ไฮสปีดเทรนไม่คืบ อีอีซีส่งพื้นที่ให้ไม่ได้ ทั้งจ่อหารือเลขาอีอีซีคนใหม่ ยืดแผนลงทุนจาก 4 เฟสเป็น 6 เฟส ให้สอดคล้องกับผู้โดยสารที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์จากพิษโควิด-19 โดยเฟสแรก จะเจรจาลดขนาดอาคารผู้โดยสาร

ปัจจุบันโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) มูลค่าการลงทุน 186,566 ล้านบาท แยกเป็นค่าซ่อมบำรุง 61,849 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าก่อสร้าง 124,717 ล้านบาท ถือว่าล่าช้าไปจากแผนเดิมแล้ว  

รัฐยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ UTA ลงทุนได้

จากเดิมที่ภาครัฐจะต้องส่งมอบพื้นที่ให้ UTA เพื่อดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ และยังไม่สามารถระบุไทม์ไลน์ที่ชัดเจนว่าจะเริ่มสร้างสนามบินในเฟสแรกได้เมื่อใด

เนื่องจากติดเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ทำให้ภาครัฐยังไม่สามารถส่งหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน(Notice to Process: NTP) แก่ทาง UTA ได้

ประกอบกับทาง UTA จะต้องมีการเจรจากับคู่สัญญา คือ อีอีซี ที่จะขอปรับแต่งแผนในการลงทุน ให้สอดคล้องกับผลกระทบของโควิด-19 ที่ยังต้องรอหารือกับเลขาอีอีซีคนใหม่ก่อน ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐหรือไม่

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัจจุบัน 3 บริษัทผู้ถือหุ้นใน UTA มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกไปแล้วร่วม 4,500 ล้านบาท

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

โดยเป็นการลงทุนของบมจ.การบินกรุงเทพฯอยู่ที่ 2,200 ล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 45%

ติดเงื่อนไขอีอีซี EHIA-รันเวย์2-ไฮสปีดเทรนไม่คืบ

การ UTA ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Process: NTP) จากภาครัฐ ก็ทำให้ได้รับผลกระทบพอสมควร และยังไม่รู้ว่าจะได้เริ่มงานก่อสร้างเมื่อไหร่ เนื่องจากตามเงื่อนไขอีอีซีระบุไว้ว่า

1. รัฐบาลต้องเปิดประมูลรันเวย์ 2 ให้ได้ก่อน เพราะถ้าสร้างอาคารผู้โดยสารไปแล้ว รันเวย์ยังไม่เปิดประมูลหรือไม่เสร็จก็ไม่ได้ ซึ่งการลงทุนรันเวย์ 2 ของภาครัฐก็ต้องลงทุนไปพร้อมๆกับเอกชน แต่ตอนนี้มีปัญหาที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างต้องรอเงินกู้มาใช้ในการลงทุน

2. รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ของการลงทุนทั้งโครงการ รวมถึงการลงทุนรันเวย์ 2 ที่ต้องผ่านความเห็นชอบ EHIA ก่อน

3.ข้อตกลงในการจัดทำตารางเดินรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน) ที่ต้องมีความชัดเจน

4.ข้อตกลงกับทางกองทัพเรือ เรื่องการใช้พื้นที่ทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 1 ซึ่งเป็นของกองทัพเรือ ที่เราจะเข้าไปร่วมใช้ด้วย

โดยเงื่อนไขใน 4 ข้อนี้ มีเพียงข้อ 4 เท่านั้นที่มีการตกลงกันได้แล้ว ส่วนเงื่อนไขทีเหลือก็ต้องรอให้ได้ข้อสรุปในรายละเอียดก่อน จึงจะมีการลงนาม NTP ได้จากนั้นก็จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีในเฟสแรก อย่างไรก็ตามแม้จะโครงการนี้จะล่าช้า

แม้เรามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงทุน ทางผู้ร่วมทุนของเรามองว่าโครงการนี้เป็นแผน 50 ปี มีค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้น ทุกคนรู้เนเจอร์ ต้องมีการลงทุนที่เหมาะสมก็ต้องช่วยกัน เรามองเห็นว่าโปรเจคนี้ช่วยประเทศ

ขอลดขนาดลงทุนเฟส 1 รับ 8 ล้านคน

นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวต่อว่า สำหรับแผนการลงทุนโครงการนี้ในเฟส 1 UTA อยู่ระหว่างเตรียมหารือกับเลขาอีอีซีคนใหม่ ในการขอความช่วยเหลือในการปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับการขยายตัวของผู้โดยสารหลังผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การเติบโตของผู้โดยสารจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เดิม ซึ่งจำนวนผู้โดยสารจะถอยลงไปอีก 25 ปี

ดังนั้น UTA จะเจรจาปรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จากเดิมที่จะมีการลงทุนแบ่งออกเป็น 4 เฟสจะขยายการลงทุนออกมาเป็น 6 เฟส ภายใต้อายุสัญญาสัมปทาน 50 ปีเหมือนเดิม และขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานอู่ตะเภาสูงสุดจะยังคงอยู่เท่าเดิมตามสัญญา คือ 60 ล้านคนต่อปี รวมถึงอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังต้องครบเหมือนเดิม

โดยในเฟสแรก UTA จะขอลดพื้นที่อาคารผู้โดยสารลง ให้รองรับได้อยู่ที่ 8 ล้านคนก่อน จากแผนเดิมที่ทางอีอีซี มองตัวเลขไว้ที่ 12 ล้านคน และเราเสนอไป 15 ล้านคน

เนื่องจากเป็นการประเมินก่อนเกิดโควิด ที่อีอีซีมองว่าตอนที่ส่งมอบพื้นที่ให้เราลงทุน ตอนนั้นผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบินอู่ตะเภาน่าจะอยู่ที่ 5-6 ล้านคนแล้ว ก็อยากสร้างให้พอดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสนามบินให้บริการไม่ทันกับการเติบโตของผู้โดยสาร

เมืองการบินอู่ตะเภาสะดุด ติดล็อกรัฐส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ UTA ขอลดขนาดเฟส1

“แม้จะขอลดขนาดพื้นที่เทอร์มินัลลง เงินลงทุนในเฟสแรก ลดลง 30% จากแผนเดิม ซึ่งก็ไม่ได้ลดลงมากมาย เพราะยังต้องลงทุนในส่วนอื่นๆที่เป็นพื้นฐานที่ต้องลงทุนตั้งแต่วันแรก เช่น ลานจอดเครื่องบิน หรือการตอกเสาเข็มเฟสที่เตรียมขยายต่อไป ซึ่งตามสัญญาถ้าผู้โดยสารถึง 80% ก็จะต้องเริ่มสร้างเฟสต่อๆไป

อันนี้ก็เป็นไปตามสัญญาเดิม ที่จะมีอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร โดยอีอีซีมองเฟสแรกที่ 12 ล้านคน เราเสนอไป 15 ล้านคน แต่หลังโควิดล่าสุดจะขอเริ่มต้นที่ 8 ล้านคนก่อน แต่สุดท้าย 50 ปี ต้องรองรับให้ได้ 60 ล้านคน” นายพุฒิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย 

ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้จัดว่าเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ-เอกชน หรือ PPP รัฐ-เอกชนก็ต้องช่วยเหลือกัน ซึ่งการที่เราขอลดพื้นที่อาคารผู้โดยสารในเฟสแรก ก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล จากดีมานต์ผู้โดยสารที่ลดลงจริงทั่วโลก อันเป็นผลกระทบจากโควิด-19

อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา

ทั้งการที่ขอลดจาก 12 ล้านคนเหลือ 8 ล้านคนในเฟสแรก ก็ไม่ใช่ว่าห่างกันมาก และเราคาดว่าในอีก 5 ปีนี้ก็น่าจะขึ้นเฟส 2 ได้ และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกกว่า 10 ปีกว่าดีมานต์จะกลับมาตามแผนเดิม

ทั้งนี้ UTA เริ่มมีปรับแบบการลงทุนใหม่ไว้บ้างแล้ว เพื่อเป็นตุ๊กตาในการหารือกับอีอีซี เพราะหลังการส่งมอบพื้นที่ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีในเฟสแรก การส่งมอบพื้นที่มีเวลาน้อย เราต้องรีบสร้าง งานอื่นโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องทำและใช้เวลาด้วยจึงต้องออกแบบไว้ก่อน

ข้อเสนอของเราก็ไม่ได้ไปลดการลงทุนในภาพรวม เพราะสุดท้ายผู้โดยสารก็อยู่ที่ 60 ล้านคน เพียงแต่เราซอยการลงทุนให้เหมาะสมกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น