ธุรกิจฉลุย“การบินไทย” มั่นใจออกแผนฟื้นฟูกิจการ ก่อนปลายปี 2567

09 ก.พ. 2566 | 07:27 น.

ธุรกิจฉลุย“การบินไทย” มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเร็วกว่ากำหนดปลายปี 2567 พร้อมกลับซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2568 หลัง EBITDA จ่อเป็นบวกมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากรายได้ในการดำเนินธุรกิจที่มีทิศทางที่ดีขึ้น

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยได้ดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการไปได้แล้วราว 70% เหลือเรื่องของการจัดหาเงินทุนใหม่ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาเปรียบเทียบแนวทางจัดหาเงินทุนใหม่ และรอประเมินสถานการณ์ทางการเงินว่ามีความจำเป็นต้องจัดหาเงินทุนมากน้อยเพียงใด

ชาย เอี่ยมศิริ

เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากกลางปีนี้ผลการดำเนินงานยังคงบวกต่อเนื่อง การบินไทยก็อาจยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาสินเชื่อใหม่ แต่อาจจะเป็นในลักษณะการขอเครดิต ไลน์สำรองไว้ เผื่อความไม่แน่นอนของธุรกิจเท่านั้น 

ขณะที่ภาพรวมการดำเนินงานในปัจจุบัน การบินไทยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) เฉลี่ยประมาณ 80% และคาดว่าทั้งปี 2566 จะอยู่ในระดับ 80% ส่วนรายได้ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตราว 40% จากปี 2565 ที่คาดการณ์รายได้ 9 หมื่นล้านบาท 

ปัจจุบันการบินไทยกลับมาทำการบิน 65%  หากเทียบกับปี 2562 และมีแผนจะทยอยเปิดบินเพิ่มเติมต่อเนื่องในเส้นทางเอเชีย จีน ญี่ปุ่น และยุโรปในเมืองที่มีความนิยมสูง ซึ่งจะทำให้การบินไทยกลับมาเปิดบินคิดเป็น 80% ในปี 2568

อย่างไรก็ตามจากผลการดำเนินงานที่เป็นบวกต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของดีมานด์ที่มีอยู่ ทำให้การบินไทยมั่นในว่าปีนี้ผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) จะเป็นบวกมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท

โดยจะเข้าเกณฑ์กำหนดของการยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่าบริษัทฯ ต้องมี EBITDA หักลบค่าเช่าและเงินสด คงเหลือมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ย้อนหลัง 12 เดือน จะทำให้การบินไทยสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการก่อนเป้าหมายกำหนดในปลายปี 2567 และกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายในปี 2568

นายชาย  ยังกล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายการบริหารงานของการบินไทย หลังจากนายชาย เอี่ยมศิริ เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566  จะเน้นหลัก 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1.การสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) โดยเฉพาะผู้โดยสารที่เป็นลูกค้าของเรา จะมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการ

2.เจ้าหนี้ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นส่วนสำคัญที่การบินไทยต้องให้ความสำคัญ เพราะเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องอยู่ร่วมกับการบินไทย แม้จะออกจากแผนฟื้นฟูแล้วการทำธุรกิจก็ยังต้องมีเจ้าหนี้และลูกหนี้เสมอ

ดังนั้นการบินไทยจะให้ความสำคัญกับการชำระหนี้ ต้องไม่ผิดนัดชำระ ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาตลอด อีกทั้งจะต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้เพื่อสร้างความมั่นใจอยู่เสมอ

3.พนักงาน ส่วนนี้เป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนองค์กร ต้องสร้างความเชื่อมั่นกับพนักงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทุกอย่างในองค์กร หากพนักงานมีความเชื่อมั่นต่อองค์กร ก็จะทำให้แผนฟื้นฟูหรือแผนบริหารจัดการงานทุกอย่างสำเร็จไปในทิศทางเดียวกัน โดยปัจจุบันการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูก มีพนักงานร่วมกันราว 14,900 คน

“ผมมีความมั่นใจว่าจะสามารถนำบริษัทฯ ออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2568 อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาปีกว่าเราพิสูจน์ตัวเองมาตลอดกว่าการบินไทยเปลี่ยนไปแล้ว"

ประวัตินายชาย เอี่ยมศิริ CEO การบินไทยคนใหม่

นายชาย เอี่ยมศิริ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจบัณฑิตการตลาด มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโทบริหารธุรกิจการจัดการมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าทำงานที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2528

 

เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายธุรกิจปิโตรเลียม ประกันภัยและสิ่งแวดล้อมการบิน รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี และประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ

 

อาทิ ประธานกรรมการ บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเชีย จำกัด ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพย์สินของบริษัทฯ ประธานคณะกรรมการขายและเช่ากลับอากาศยาน

 

ทั้งเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการ บริษัท บริการเชื้อเพลิงกรุงเทพฯ จำกัด ประธานคณะกรรมการจัดหาน้ำมันอากาศยาน คณะกรรมการเจรจาเจ้าหนี้ เรื่องหุ้นกู้/เงินกู้ ธุรกิจรอยัลออร์คิดพลัส การขอคืนเงินค่าบัตรโดยสารและการบริหารจัดการน้ำมัน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และหัวหน้าคณะทำงาน Survival Team เพื่อจัดทำแผนธุรกิจของบริษัทฯ

 

ตำแหน่งในการบินไทยก่อนหน้านี้คือ ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี ก่อนที่จะดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทยฯ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566