ครม.ไฟเขียวแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับ 3 รับ Next Normal

03 ม.ค. 2566 | 08:21 น.

ครม.ไฟเขียวแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับ 3 รับ Next Normal ระบุกรอบระยะเวลา 5 ปี ทั้งทั้งมิติการพัฒนา และการแก้ไข ฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 ม.ค. 66 ได้พิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566-70) หรือ แผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่3 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนงานเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ ระดับพื้นที่ และท้องถิ่นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป

 

ทั้งนี้ แผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่ 3 จะเป็นกรอบการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด19 ซึ่งจะมีทั้งมิติการพัฒนา และการแก้ไข ฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดรับกับความปกติถัดไป(Next Normal) แผนมีระยะเวลา 5 ปี  

 

มีวิสัยทัศน์ตามแผนคือ การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว เติบโตอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม (Rebuilding High Value Tourism Industry with Resilience, Sustainability and Inclusive Growth)
 

สำหรบแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่3  มีเป้าหมายหลัก คือ การท่องเที่ยวไทยต้องมีความเข้มแข็งและสมดุล ยกระดับการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นและมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวคุณค่าสูง และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 

 

ส่วนเป้าหมายรอง คือ การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพสูงทุกกลุ่ม ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว มีความพร้อมในการรับมือและจัดการความเสี่ยงทุกรูปแบบเสมอ 

 

อย่างไรก็ดี มีตัวชี้วัดสำคัญในระยะ 5 ปี เช่น สัดส่วนจีดีพีด้านการท่องเที่ยวต่อจีดีพีประเทศไม่ต่ำกว่า 25% ,จำนวนธุรกิจบริการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย และอาเซียนเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ,ระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ต่ำกว่า 10 วัน และค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี

 

,ระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยวชาวไทย ไม่ต่ำกว่า 3 วัน และค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7% ต่อปี ,สัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางครั้งแรก(First Visit) และกลุ่มเดินทางซ้ำ (Revisit) เป็น 40:60 และอันดับการดำเนินงานภาพรวมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) อยู่ใน 35 อันดับแรก
 

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่3 เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย และบรรลุตัวชี้วัดข้างต้น จะดำเนินการผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 

 

  • เสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย (Resilient Tourism) ตัวอย่างการดำเนินกลยุทธ์ เช่น กระจายรายได้และความเจริญทางการท่องเที่ยวทั่วถึงทุกพื้นที่ ลดการรั่วไหลในภาคการท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพที่มุ่งเน้นสร้างความสมดุลทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานการท่องเที่ยว มีตัวชี้วัดสำคัญคือ อัตราการเติบโตของรายได้ของการท่องเที่ยว 12 สาขา เท่ากับ 4.5% ในปี 2570, จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับการยกระดับมูลค่าของสินค้า/บริการ 12,500 รายในปี 2570

 

  • พัฒนาปัจจัยพื้นฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพสูง(Quality Tourism) ตัวอย่างการดำเนินการตามกลยุทธ์ เช่น พัฒนาความปลอดภัย สุขอนามัยและมาตรฐานการท่องเที่ยวตลอดเส้นทางเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและสารสนเทศ สนับสนุนการใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเพื่อกำหนดนโยบายระดับประเทศและการวางแผนของผู้ประกอบการ มีตัวชี้วัดสำคัญ เช่น  คะแนนความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว 7 ด้านเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้ใช้บริการฐานข้อมูลศูนย์กลางข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 40% ในปี 2570 อัตราการเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

  • ยกระดับประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว(Tourism Experience) ตัวอย่างการดำเนินการตามกลยุทธ์  เช่น ส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ส่งเสริมการตลาดเชิงรุก เน้นกลุ่มเป้าหมายเชิงคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ มีตัวชี้วัดสำคัญ เช่น ระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 0.05 คะแนนต่อปี อัตราการเติบโตของรายได้และรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงในไทยไม่ต่ำกว่า 5% ในแต่ละปี อันดับ Global Wellness Travel อยู่ในอันดับ 1 ใน 5 ภายในปี 2570

 

  • ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) ตัวอย่างการดำเนินการตามกลยุทธ์ เช่น ส่งเสริมความสมบูรณ์แก่สิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ส่งเสริมการอนุรักษ์และต่อยอดทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วยการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการนักท่องเที่ยว มีตัวชี้วัดสำคัญ เช่น ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างขยะลดลง 2% ต่อปี จำนวนแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจบริการท่องเที่ยวได้รับมาตรฐานความยั่วยืนในระดับสากล (GSTC) เพิ่มขึ้น 30% ในปี 2570 มูลค่าการลงทุนและสัดส่วนสะสมทุนถาวรเพื่อการท่องเที่ยวในมิติวัฒนธรรมต่อมูลค่าการสะสมทุนด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2.5% ต่อปี ในปี 2570

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนแผนนั้น จะมีการขับเคลื่อนผ่าน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ผ่านคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ(ท.ท.ช.), ระดับพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ และคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน  และ ระดับท้องถิ่น ผ่าน กลุ่ม/องค์กร หรือเครือข่ายองค์กร เช่นวิสาหกิจชุมชน

 

ขณะที่การติดตามและประเมินผลตามแผนนั้น ประกอบด้วยการประเมินผลรายปี ในส่วนของการดำเนินการตามเป้าหมายและตัวชี้วัดหลัก, รายยุทธศาสตร์ และรายโครงการ รวมถึงการประเมินผลในแต่ละระยะแบ่งเป็น ระยะที่1 สำหรับการดำเนินการตามแผนในปีที่ 1-2 (2566-67) และระยะที่2 สำหรับการดำเนินการตามแผนในปีที่ 3-5 (2568-70)