แมวเก้าชีวิต‘ผิน คิ้วคชา’เจ้าพ่อธีมปาร์ค ดิ้นรนด้วยตัวเองฝ่าวิกฤตโควิด

15 ธ.ค. 2565 | 04:12 น.

กว่า 40 ปีที่แมวเก้าชีวิตอย่าง “ผิน คิ้วคชา” เจ้าพ่อธีมปาร์ค ฝ่ามรสุมในทุกวิกฤตมาร่วม 30 ครั้ง โดยเฉพาะโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสสุด แต่เขาก็ดิ้นรนด้วยตัวเองจนฝ่าวิกฤตนี้ได้สำเร็จ

 

ผิน คิ้วคชา เจอมาแล้ว 30 วิกฤต

 

นาย ผิน คิ้วคชา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด (มหาชน) และบริษัท คาร์นิวัลเมจิก จำกัด เปิดใจว่า กว่า 40 ปีที่ “ผิน คิ้วคชา” บุกเบิกธุรกิจท่องเที่ยวธีมปาร์ก เริ่มจากการเปิด “ซาฟารีเวิลด์” ในปี 2531 ตามมาด้วยการขยายมาลงทุนสู่ภูเก็ต กับบิ๊กโปรเจ็กต์ “ภูเก็ต แฟนตาซี” และล่าสุด “คาร์นิวัลเมจิก” ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 20 ก.ย. 65 ซึ่งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเขาผ่านวิกฤตน้อยใหญ่มาร่วม 30 ครั้ง โดยโควิด-19 เป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสสุด ที่ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง เพื่ออยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้

 

 

โควิด-19 วิกฤตสุดรอดได้ต้องช่วยตัวเอง

 

โควิด-19 ที่กินเวลายาวนานมากว่า 2 ปีครึ่ง เรียกว่าหนักหนาสาหัส เจ็บปวดทีเดียว เพราะเกิดทั้งโลก ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทางเข้ามา รัฐบาลก็สั่งปิดๆ เปิดๆ ทำให้ 2 ปีครึ่ง ทั้งซาฟารี กรุงเทพฯ และภูเก็ตแฟนตาซี ก็ไม่มีรายได้เลย สภาพคล่องต่างๆ มีปัญหา ต้องช่วยตัวเองจนมาถึงวันนี้

 

ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา เราสูญรายได้ไปราว 5 พันล้านบาท หรือปีร่วม 2 พันกว่าล้านบาท เมื่อไม่มีรายได้เข้ามา แต่มีค่าใช้จ่ายทุกวัน เพราะธุรกิจธีมปาร์กไม่สามารถลดต้นทุนได้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ที่อย่างน้อยพนักงานครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นมีทักษะ เช่น คนเลี้ยงเสือ คนเลี้ยงนกก็เลี้ยงไม่เป็น ไม่กล้าเลี้ยง คนเลี้ยงเสือ ก็ไม่กล้าไปเลี้ยงนก สัตว์ของเรามีหลายหมื่นตัว หลายพันธ์ชนิด โดยเฉพาะโชว์ภูเก็ตแฟนตาซี สัตว์แต่ละตัวจำเจ้าของได้ ถ้าคนนี้ไม่อยู่ คนใหม่คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง 

 

ผิน คิ้วคชา

 

เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องรักษาไว้ ทำให้ที่ผ่านมา เราเอาคนออกไม่ได้มาก ทั้งสัตว์บางตัว อย่างที่ ซาฟารีเวิลด์ โลมา แมวนํ้า วอรัส ต้องอยู่ในนํ้าเย็น การใช้ไฟฟ้าเพื่อทำนํ้าเย็นก็ต้องใช้ สัตว์ต้องให้กินทุกวัน ไม่กินก็ป่วย 3-4 วัน ก็ตายล่ะ อันนี้เป็นต้นทุนที่เราต้องแบกเอาไว้ ซึ่งทั้งภูเก็ตแฟนตาซีและซาฟารีเวิลด์ ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา เรามี ค่าใช้จ่ายรวมกันก็ 4 พันกว่าล้านบาท  ส่งผลให้เราขาดทุนสะสมอยู่เกือบ 1,500-1,600 ล้านบาท ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้น จากก่อนโควิดที่เรามีกำไรราว 300-400 ล้านบาท

รัฐบาลช่วยแต่รากหญ้าไม่มองต้นไม้ใหญ่

 

ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมารัฐบาล จะมองแต่รากหญ้าอย่างเดียว ต้นไม้ใหญ่ไม่มอง ทั้งๆ ที่ต้นไม้ใหญ่ อย่างเราก็มีความสำคัญต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่สร้างงานให้กับคนจำนวนมาก และผมเป็นคนเสียภาษีเป็นอันดับ 1 ของภูเก็ต พอเกิดวิกฤต รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ เราต้องช่วยตัวเองจนมาถึงวันนี้ 

 

ที่ผ่านมากระแสเงินสดไม่มีอยู่แล้ว เพราะไม่มีรายได้เข้ามา เราเอาทรัพย์สินไปคํ้า ซึ่งผมมีทรัพย์สินส่วนตัวราวหมื่นกว่าล้านบาท ก็นำมาใช้คํ้าประกัน ก็ออกหุ้นกู้ วงเงิน 2 พันกว่าล้านบาท เพื่อมาเป็นสภาพคล่องและลงทุนในโครงการใหม่ คาร์นิวัลเมจิก ที่ตอนนั้นเราลงไปมากแล้ว ยังขาดเงินอยู่บางส่วนนำมาใช้ลงทุนต่อ

 

“แม้ซาฟารี จะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ผมไม่ได้มองประโยชน์ส่วนตัว มองบริษัท และเราก็เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจนี้ด้วย เลยเสียสละเอาทรัพย์สินส่วนตัวมาคํ้า ไม่งั้นคงอยู่ไม่ได้ และวันนี้เป็นวันแรกที่ทุกอย่างดีขึ้น มองเห็นแสงสว่าง คิดว่าจากวันนี้เป็นต้นไปก็จะเริ่มดีขึ้น ถ้าไม่มีโควิดรอบอื่นๆ มาอีกครั้ง 

 

 

เนื่องจากตามลอจิกส์ เมื่อที่ผ่านมามันดิ่งลงมาก เวลาขึ้นก็จะขึ้นเร็ว เพราะตอนนี้ทุกประเทศก็เบนเข็มมาโปรโมทท่องเที่ยว โดยเฉพาะไทยที่พึ่งท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก และผมมองว่าในปี 2566 ธุรกิจของเราก็น่าจะกลับคืนมาได้มากกว่า 50% และในปี 2567 ก็น่าจะได้กลับมาเท่าเดิม”

 

คาร์นิวัลเมจิค ภูเก็ต

 

คาดต้องใช้ 2 ปีใช้หนี้ 4 พันล้าน

 

ปัจจุบันเรามีภาระหนี้รวมอยู่ที่ราว 4 พันกว่าล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ในช่วงโควิดที่เราลงทุนโครงการใหม่คาร์นิวัลเมจิก ซึ่งเป็นโครงการลงทุนต่อเนื่องมาก่อนเกิดโควิด ก็มีเรื่องของดอกเบี้ยด้วย แต่หนี้ก้อนนี้ ผมคาดว่าปี 2567 ก็คงจะหมด แต่ถ้าธุรกิจดีกว่าที่คาดมากไม่เกิน 2 ปีก็หมด เพราะเราขายบัตรเข้าชมคาร์นิวัลเมจิก อยู่ที่ใบละ 3 พันบาท เราตั้งเป้านักท่องเที่ยวที่ 1 ล้านคน ก็ได้แล้ว 3 พันล้านบาท

 

ทั้งผมยังมองว่าในอีก 30-50 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นเรื่องของการท่องเที่ยว  ทำให้ผมก็ยังมุ่งมั่นที่จะอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวธีมปาร์กเป็นอาชีพเดียว และผมจะไม่วางมือ จะทำจนหมดล้มหายใจ แม้บทเรียนจากโควิด-19 จะทำให้เรามีบทเรียนเรื่องของความเสี่ยง แต่ก็พร้อมรับและบริหารความเสี่ยง เพราะเราเป็นมืออาชีพในด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งกลยุทธ์ในการลงทุนของผม จะเน้นการลงทุนสูง ทำโครงการขนาดใหญ่ในเมืองท่องเที่ยวที่มี ดีมานต์นักท่องเที่ยวมากพอ เพื่อจะได้เป็นแม็กเน็ตในการดึงดูดนักท่องเที่ยว การคืนทุนก็จะเร็ว

 

คาร์นิวัล ภูเก็ต

 

ธุรกิจอยู่ได้ระยะยาวต้องลงทุนสเกลใหญ่

 

 

เพราะถ้าไม่กล้าลงทุน การคืนทุนก็ช้า หรือไม่มีกำไร เพราะเจอคู่แข่งเยอะ อย่างคาร์นิวัลเมจิก เราลงทุนไป 6,600 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาคืนทุนใน 3-4 ปี ซึ่งก็เหมือนกับดีสนีย์แลนด์ที่ใครไปญี่ปุ่นก็อยากไปเที่ยว ที่นี่ก็เหมือนกันใครมาภูเก็ตก็ต้องมาเที่ยวที่เราเพราะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจากประสบการณ์ของผม ไม่มีใครไปหาแหล่งท่องเที่ยวถูกสุด มีแต่ไปหาแหล่งท่องเที่ยวดีที่สุด ผมจึงเอาประสบการณ์ตรงนี้มาทำแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุด และถ้าไม่มีวิกฤตดี การท่องเที่ยวก็ดี เพราะเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต คนมีกินมีอยู่มีใช้ ก็เที่ยว

 

ส่วนการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังโควิดก็ต้องลงทุนอย่างระมัดระวังขึ้น เพราะพอเกิดวิกฤต รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเราก็มองไว้ที่ปราจีนบุรี เพราะมีที่ดินอยู่หมื่นกว่าไร่ ซึ่งเราเลี้ยงสัตว์ไว้ ถ้าคาร์นิวัลเมจิกไปได้ดี ก็อาจจะนำพื้นที่บางส่วนมาพัฒนาเป็นธีมปาร์กที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่คนไปพักผ่อนแต่การลงทุนนี้จะไม่ได้ลงทุนสูง เพราะการลงทุนขนาดใหญ่ต้องมีดีมานต์นักท่องเที่ยวมากพอเหมือนที่เราลงทุนภูเก็ต หรือกรุงเทพฯ รวมไปถึงมองการขยายการลงทุนโครงการธีมปาร์กในประเทศจีน

 

ขณะเดียวกันในส่วนของโครงการเดิมที่เรามีอยู่ อย่างซาฟารีเวิลด์ ก็มีแผนขยายกิจกรรมใหม่กว่า 10 กิจกรรมเพื่อเจาะ กลุ่มวัยรุ่น ขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มเติมจากกลุ่มเด็ก โดยลงทุนอีกราว 300-400 ล้านบาท และการปรับปรุงภูเก็ตแฟนตาซี ก็จะตามมาในอนาคตด้วย

 

จากการมุ่งมั่นในธุรกิจนี้แม้จะมีข้อดีและมีความเสี่ยง แต่เขาก็ประกาศว่าจะไม่วางมือ จะทำจนหมดล้มหายใจ ทำด้วยใจ สำหรับกิจการครอบครัวของตระกูลคิ้วคชานี้