การบินไทยลุ้นศาลล้มละลายไฟเขียวแก้ไขแผนฟื้นฟู 20 ต.ค.65 เจ้าหนี้พร้อมหนุน

19 ต.ค. 2565 | 04:34 น.

ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งพิจารณาแก้ไขแผนฟื้นฟู “การบินไทย” 20 ตุลาคมนี้ จับตาผ่านฉลุย หลังได้แรงหนุนจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ แม้ก่อนหน้านี้ถูกเจ้าหนี้แบงก์กรุงเทพฯคัดค้าน พร้อมเดินหน้าระดมทุนใหม่จากผู้ถือหุ้นเดิม 25,000 ล้านบาท ภายในปี 2567

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการบินไทยมั่นใจว่าศาลล้มละลายกลาง มีแนวโน้มสูงที่จะเห็นชอบแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขของการบินไทย ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ 78.59% ได้โหวตยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว มีเพียงเจ้าหนี้ 3-4 ราย ที่ยื่นคัดค้าน และในช่วงที่ผ่านมาศาลได้เรียกการบินไทยและเจ้าหนี้ที่ยื่นคัดค้านมาชี้แจงไต่สวนเรียบร้อยแล้ว

 

การบินไทยลุ้นศาลล้มละลายไฟเขียวแก้ไขแผนฟื้นฟู 20 ต.ค.65 เจ้าหนี้พร้อมหนุน

 

การที่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่รวมถึงกระทรวงการคลังโหวตผ่านแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขของการบินไทย เป็นเพราะเจ้าหนี้เห็นว่ามีโอกาสในการรับชำระหนี้ได้เร็วขึ้น และแผนนี้ยังมุ่งให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูให้ได้เร็วที่สุด โดยคาดว่าแผนฉบับนี้จะทำให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และพร้อมนำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งในปี2568 โดยที่การบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ

 

ทั้งนี้หากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบด้วยแผนขั้นตอนต่อไปการบินไทยก็จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน(FA)เข้ามาเตรียมเรื่องของกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน การเพิ่มทุน ซึ่งเป็นการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมใน 3 กลุ่มใหญ่ คือ กระทรวงการคลัง สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ เป็นเงินอย่างน้อย 25,000 ล้านบาท

 

โดยกระแสเงินสดของการบินไทยวันนี้ส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติการบิน ส่งผลให้ในขณะนี้การบินไทย มีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) สะสมในปัจจุบันร่วม 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในขณะนี้การบินไทยกลับมาทำการบินได้แล้วราว 60-70% ของก่อนเกิดโควิด-19 อัตราการบรรทุกเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 80% โดยเส้นทางที่มีดีมานด์สูงมากจะเป็นเส้นทางยุโรป และญี่ปุ่นที่การบินไทยกลับมาเปิดบินในหลายเส้นทางมากขึ้น หลังจากญี่ปุ่นเปิดประเทศ รวมถึงจุดบินต่างๆในอินเดีย จากดีมานด์ของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

 

ขณะที่การบินไทยมีฝูงบินในการปฏิบัติการบินอยู่ที่ 60 กว่าลำ ซึ่งถือว่าไม่พอ ทำให้การบินไทยได้นำเครื่องบินแอร์บัส เอ330 ที่เดิมอยู่ในแผนปลดระวาง นำมาปรับปรุงใหม่ จำนวน 3 ลำ ซึ่งดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ พร้อมนำกลับมาเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ นอกจากนี้การบินไทย ยังมีแผนจะเช่าเครื่องบินแอร์บัส เอ 350 จำนวน 5 ลำ เพื่อนำมาขยายเครือข่ายการบินเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าภายในไตรมาส 1 ปีหน้า น่าจะนำเข้ามาได้ก่อนจำนวน 2 ลำ

 

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการ หลังศาลนัดฟังคำสั่งพิจารณาแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน การบินไทยก็จะเริ่มกระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการ การแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิม วงเงิน 25,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ 5 หมื่นล้านบาท โดยการเพิ่มทุนจะเพิ่มกับผู้ถือหุ้นเดิมก่อน ถ้าผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิไม่หมด การบินไทยจึงจะหาทุนจากกลุ่มใหม่

 

การบินไทยลุ้นศาลล้มละลายไฟเขียวแก้ไขแผนฟื้นฟู 20 ต.ค.65 เจ้าหนี้พร้อมหนุน

 

ในส่วนของกระทรวงการคลังจะแปลงหนี้เป็นทุนและใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในฐานะผู้ถือหุ้น ก็จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย อยู่ที่ 32% และหากรวมกับรัฐวิสาหกิจในสังกัดอย่างธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย สัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐก็จะอยู่ที่ราว 40% กว่า

การบินไทยลุ้นศาลล้มละลายไฟเขียวแก้ไขแผนฟื้นฟู 20 ต.ค.65 เจ้าหนี้พร้อมหนุน

 

ทั้งนี้ตามสเต็ปควรจะเริ่มจากสินเชื่อใหม่ก่อน ซึ่งการบินไทยจะมีการเลือกระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี ไม่เกิน 12,500 ล้านบาท หรือการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียนในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาท แนวทางใดแนวทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเพิ่มทุนใหม่ เพราะเงินกู้ยืมระยะยาวจะให้สิทธิเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนสเต็ปที่ 2 แปลงหนี้เป็นทุน และตามมาด้วยการเพิ่มทุน ซึ่งเบ็ดเสร็จการบินไทยจะเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น

 

ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูล เรื่องเงินก้อนใหม่  แต่ในส่วนของกลุ่มสหกรณ์นั้น ยังไม่อนุมัติให้เพิ่มทุน แต่แนวโน้มการโหวตแผนเบื้องต้นจากการซาวเสียงส่วนใหญ่จะลงคะแนนให้ผ่านแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

 

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้การบินไทย กล่าวว่า ในการโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยก่อนหน้านี้ แม้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะเห็นชอบ แต่เจ้าหนี้ที่คัดค้าน 3-4 ราย หนึ่งในนั้นคือธนาคารกรุงเทพ ซึ่งการยื่นคัดค้านแผนแก้ไขดังกล่าว ลึกๆน่าจะเพราะธนาคารมองประโยชน์ในเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง

 

เนื่องจากในแผนเดิมจะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินมากถึง 2.5 หมื่นล้านบาท และเป็นส่วนของเจ้าหนี้ภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท ทั้งๆที่ธนาคารกรุงเทพก็มีตัวแทนที่เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 คน และเป็นคณะกรรมการเจ้าหนี้อีก 1 คน ซึ่งที่ผ่านมาก็รับทราบรายละเอียดแผนแก้ไขฟื้นฟูกิจการของการบินไทยมาโดยตลอด