ห้ามพลาด "เทศกาลโล้ชิงช้า" The Akha Swing Festival ของชาวอาข่า

31 ส.ค. 2565 | 08:50 น.

ไปไหม ๆ...ไปแอ่วดอยที่เจียงฮาย ไปร่วมงานเทศกาลโล้ชิงช้าของชาวอาข่า วันหยุดสุดสัปดาห์ 3-4 ก.ย.2565 นี้ ท่านใดที่ยังไม่มี Planว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ใด “ฐานเศรษฐกิจ” แนะนำให้ขึ้นเหนือไปร่วมเทศกาลแห่งความสุข และความหวังที่จังหวัดเชียงราย

ช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายชุมชนตามยอดเขายอดดอยต่างๆ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวอาข่า เขากำลังจัดงานเทศกาลโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นงานประเพณีที่ว่ากันว่าได้รับการสืบสานถ่ายทอดกันมานานกว่า 2,000 ปี ส่วนจะมีอะไรน่าสนใจบ้างนั้น หารายละเอียดได้จากรายงานชิ้นนี้...ที่ส่งตรงมาจากจังหวัดเชียงราย

 

จังหวัดเชียงราย จังหวัดเหนือสุดแดนสยาม มีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ประการหนึ่ง ซึ่งที่อื่นมักจะไม่มีหรือมีก็มีน้อยกว่า สิ่งที่ว่านั้นก็คือความหลากหลายในเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายอยู่ตามหุบเขา, ยอดภู และยอดดอยในพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย

ห้ามพลาด \"เทศกาลโล้ชิงช้า\" The Akha Swing Festival ของชาวอาข่า

ห้ามพลาด \"เทศกาลโล้ชิงช้า\" The Akha Swing Festival ของชาวอาข่า

โดยในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ต่อเนื่องไปจนถึงต้นเดือนกันยายนของทุกปี ในชุมชนของชาวอาข่าซึ่งเป็น 1 ในหลาย ๆ ชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่จังหวัดเชียงราย ทุก ๆ  ชุมชนจะมีงานประเพณีหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือเทศกาลโล้ชิงช้า การเข้าไปร่วมประเพณีเทศกาลโล้ชิงช้าตามชุมขนต่าง ๆ อาจจะดูว่าเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละหมู่บ้านกำหนดจัดงานต่างๆ กันไป

 

แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะว่าทาง อบต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งในพื้นที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยูมากมายหลายชาติพันธุ์ อาทิ อาข่า(อีก้อ) ลาหู่(มูเซอ์) เมี่ยน(เย้า) ไทใหญ่ จีนยูนนานฯลฯ ได้กำหนดจัดงานเทศกาลโล้ชิงช้า กระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ ”บ่อ ฉ่อง ตุ๊” ประจำปี 2022 หรือชื่อในภาคภาษาอังกฤษว่า ”The Akha Swing Festival 2022 ” ขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 และวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2565 นี้ ในสถานที่เป็นจุดศูนย์กลาง โดยจัดขึ้นที่บริเวณลานพระสยามเทวาธิราช เขตบ้านสามแยกอาข่า ตำบลแม่สลองใน

ห้ามพลาด \"เทศกาลโล้ชิงช้า\" The Akha Swing Festival ของชาวอาข่า

ห้ามพลาด \"เทศกาลโล้ชิงช้า\" The Akha Swing Festival ของชาวอาข่า

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การสาธิตการโล้ชิงช้า,การแสดงกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่, การละเล่นชิงช้าสวรรค์, การแสดงวิถีชีวิตชาติพันธุ์ การออกบูธจำหน่ายสินค้าผลิตพันธุ์ชนเผ่า-อาหารชนเผ่า เป็นต้น

 

นายปิยะเดช เชิงพิทักษ์กุล นายก อบต.แม่สลองใน เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดงานเทศกาลโล้ชิงช้า ปีนี้ อบต.แม่สลองใน และประชาชนในพื้นที่ จึงพร้อมแล้วที่จะจัดงานเทศกาลแห่งความสุข เทศกาลโล้ชิงช้าของ อบต.แม่สลองใน ให้ยิ่งใหญ่กว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา

 

ฝากไปถึงนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ชื่นชอบ งานศิลปวัฒนธรรมชนเผ่า บอกได้คำเดียวว่า ไม่ควรพลาดงานนี้ด้วยประการทั้งปวง เพราะการเดินทางมาร่วมเทศกาลโล้ชิงช้า ที่บริเวณลานพระสยามเทวาธิราช บ้านสามแยกอาข่า นอกจากจะได้ร่วมเทศกาลโล้ชิงช้าแล้ว บริเวณพื้นที่โดยรอบไม่ไกลนักจากสถานที่จัดงาน ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย

สตรีอาข่าจะแต่งกายในชุดชุดประจำเผ่าเต็มยศในเทศกาลโล้ชิงช้า ซึ่งต้องเตรียมการนานเป็นปีและมีราคาแพง บางคนสูงนับแสนบาท

ไม่ว่าจะเป็นบนดอยแม่สลอง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตชาชั้นดีและแหล่งรวมอาหารรสเลิศหรู หรือที่บ้านเทอดไทย ดินแดนแห่งตำนาน เพราะเคยเป็นฐานที่มั่นของ “จางซีฟู” หรือที่รู้จักกันดีของคนไทยในชื่อ “ขุนส่า” ราชายาเสพติดโลกผู้ล่วงลับ

 

 “วันนี้การเดินทางที่ลานพระสยามเทวาธิราช มีความสะดวกสบาย ทางอาจจะชันบ้างแต่ก็เป็นถนนลาดยางตลอดทั้งสาย นักท่องเที่ยวสามารถที่จะพักค้างคืนบนดอย ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งมีโรงแรม รีสอร์ท โฮมสเตย์ ให้เลือกได้หลากหลายระดับชั้น และก็ไม่ต้องกังวลเรื่องของราคา สามารถเลือกได้ตามความต้องการ ส่วนใหญ่ราคาจะจะเริ่มต้นประมาณ 500 บาท” นายก อบต.แม่สลองใน ระบุ

 

ความรู้ก่อนเที่ยวงานโล้ชิงช้า

ประเพณีโล้ชิงช้า ชาวอ่าข่าเรียกว่า “แย้ขู่อ่าเผ่ว” มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนที่มีชื่อว่า “จาแดลอง” ซึ่งก็คือพื้นที่ในประเทศจีนในปัจจุบัน ว่ากันว่าประเพณีโล้ชิงช้าดินแดนจาแดลองนั้น จะมีการจัดประเพณีโล้ชิงช้าเป็นระยะเวลายาวนาน 33 วัน เมื่อเป็นเช่นนั้นคนในดินแดนจาแดลอง ไม่ว่าจะเป็นคนจน-คนรวย ต่างต้องเตรียมเสบียงอาหารเอาไว้ เพื่อใช้ในการฉลองในประเพณีโล้ชิงช้า โดยว่ากันว่าชาวอาข่าได้สืบทอดประเพณีนี้มาเป็นเวลากว่า 2,500 ปีแล้ว

ห้ามพลาด \"เทศกาลโล้ชิงช้า\" The Akha Swing Festival ของชาวอาข่า

ประเพณีโล้ชิงช้าในปัจจุบัน มักจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายน เพราะตรงกับช่วงที่ผลผลิตซึ่งปลูกไปแล้วกำลังเจริญเติบโตงอกงาม ระหว่างที่รอการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่าง ๆ  ซึ่งจะตรงกับเดือนของอาข่า คือเดือน “ฉ่อลาบาลา” จึงเป็นช่วงของการจัดงานประเพณีโล้ชิงช้า

 

โดยทั่วไปประเพณีโล้ชิงช้า จะจัดขึ้น 4 วัน 

วันที่ 1 “จ่าแบ” ผู้หญิงอาข่าจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศ ออกไปตักน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านหรือชุมชน เพราะต้องนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา น้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ชาวอ่าข่าเรียกว่า “อี๊จุอี๊ซ้อ” 

 

และในวันนี้จะมีการตำข้าวปุ๊ก “ห่อถ่อง” ข้าวปุ๊กหรือห่อถ่อง คือข้าวที่ได้จากการตำ ก่อนที่จะตำต้องนำข้าวสาร(ข้าวเหนียว)แช่น้ำไว้ประมาณ 1 คืน รุ่งเช้าก็นำมานึ่งพอใกล้สุก จะมีการโปรยน้ำอีกรอบจากนั้นก็นึ่งต่อไป ระหว่างที่รอข้าวสุก จะมีการตำงาดำผสมเกลือ เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวที่ตำติดมือ เวลานำมาปั้นเป็นข้าวปุ๊กซึ่งต้องใช้ในการทำพิธี

 

วันที่ 2 วันสร้างชิงช้า เป็นวันที่ทุกคนไปรวมตัวกันที่บ้านของผู้นำชุมชน ปรึกษาหารือและแบ่งงานกันทำเพื่อสร้างชิงช้าของชุมชน หรืออ่าข่าเรียกว่า “หล่าเฉ่อ” โดยวันนี้จะไม่มีการทำพิธีใด ๆ ทั้งสิ้น หลังจากที่สร้างชิงช้าของชุมชนเสร็จ จะมีพิธีเปิดโล้ชิงช้าโดยผู้นำเสียก่อน หลังจากนั้นทุกคนจึงสามารถโล้ได้

 

เมื่อสร้างชิงช้าของชุมชนเสร็จแล้ว จึงมาสร้างชิงช้าเล็กที่หน้าบ้านของตนเองอีก เพื่อให้ลูกหลานเล่น โดยในอดีตทุกบ้านจะต้องสร้างเพราะถือว่าเป็นพิธี

 

วันที่ 3 อาข่าเรียกว่า “ล้อดา อ่าเผ่ว” ถือเป็นวันพิธีใหญ่ มีการเลี้ยงฉลองกันทุกครัวเรือน มีการเชิญผู้อาวุโส หรือแขกต่างหมู่บ้าน มาร่วมรับประทานอาหารในบ้านของตน ผู้อาวุโสจะมีการอำนวยอวยพรให้กับเจ้าบ้านขอให้ประสบแต่ความสำเร็จและมีความสุข 

 

ส่วนวันที่ 4 “จ่าส่า”ไม่มีการประกอบพิธีกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากพากันมาโล้ชิงช้า แต่พอตะวันตกดิน หรือประมาณ 18.00 น. ผู้นำศาสนาจะทำการเก็บเชือกของชิงช้ามัดติดกับเสาชิงช้า ถือว่าบรรยากาศในการโล้ชิงช้าก็จะได้จบลงเพียงเท่านี้ และหลังอาหารค่ำก็จะทำการเก็บเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ เข้าไว้ที่เดิม

 

 หลังจากที่เก็บเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้แล้วถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรมประเพณีโล้ชิงช้า

ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่า ดูจะให้ความสำคัญกับสตรี ช่วงเทศกาลโล้ชิงช้าสตรีชาวอาข่าจะแต่งกายอย่างสวยงาม ในอดีตผู้หญิงอาข่าบางคนต้องจัดเตรียมเครื่องแต่งกาย เพื่อที่จะสวมใส่ในช่วงเทศกาลโล้ชงช้ากันตลอดทั้งปี

 

เครื่องแต่งกายของสตรีชาวอาข่าถือว่าเป็นของสูง และมีมูลค่าสูงมากบางคนชุดที่ใส่มีมูลค่าหลักแสน สตรีชาวอาข่าสมัยนี้หลายคนไม่มีกำลังทรัพย์พอ ที่จะจัดหเครื่องกายมาใช้แบบเต็มยศได้ เนื่องจากทำยากและมีราคาแพง แต่ทว่าชุดราคาแพงเหล่านี้ จึงมักจะมีให้ชมเฉพาะในช่วงเทศกาลโล้ชิงช้าเท่านั้น    

 

หากนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปร่วมงานเทศกาลโล้ชงช้าของชาวอาข่า สามารถสอบถามถามได้ถึงความยากในการทำ และมูลค่าขอเครื่องแต่กาย โดยฉพาะหมวกที่สวมใส่ บางคนสวมหมวกราคาหลักแสนกันเลยทีเดียว

 

สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ตัดสินใจแล้ว ว่าจะไปร่วมงานเทศกาลโล้ชิงช้า ซึ่ง อบต.แม่สลองในจะจัดขึ้น ระหว่างวันเสาร์ที่ 3 และวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2565 นี้ ท่านสามารถสอบถามเส้นทาง และข้อมูลเพิ่มเติมล่วงหน้าได้ที่ อบต.แม่สลองใน โทรศัพท์ 053-730322 ต่อ 102 (สำนักปลัด), 053-730322 ต่อ 105 (กองการศึกษา) ได้ในวันเวลาราชการ หรือติดต่อได้ที่เบอร์ 095-4477024 ซึ่งเป็นเบอร์ของเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ อบต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

ชัยณรงค์ สีนาเมือง/รายงาน