ททท. หนุนเอกชนปรับตัวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน

24 ส.ค. 2565 | 09:39 น.

ททท. หนุนผู้ประกอบการปรับตัวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ยินดีจ่ายเพื่อลดโลกร้อน

ททท. กระตุ้นภาคธุรกิจเร่งท่องเที่ยวปรับตัวรับกระแสโลกสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ริเริ่มโปรแกรมท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จัดการที่พัก-อาหาร-โลจิสติกส์ ชดเชยให้กับโลก ชี้เป็นเรื่องท้าทายแต่คุ้มค่า เพราะนักท่องเที่ยวยุคใหม่ทรงพลังและยินดีจ่าย

 

ททท. หนุนเอกชนปรับตัวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. มีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ก้าวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ซึ่งจะเป็นการท่องเที่ยวกระแสหลักในยุคหลังโควิด-19  ประเทศไทยประกาศเจตจำนงในที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เมื่อปี 2021 ที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 หรือในอีก 30 ปี และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 

 

ททท. หนุนเอกชนปรับตัวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน   

 

ทั้งนี้ บรรดาผู้นำโลกให้คำมั่นสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวที่ยั่งยืนผ่านกลุ่มความร่วมมือ Sustainable Tourism Global Centre (STGC) เพื่อผลักดันเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวขึ้นเท่าตัวในรอบทศวรรษที่ผ่านมาปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 450 ล้านตันต่อปี หรือ 8% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ โดยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวเกิดจากภาคขนส่งและการเดินทาง การใช้พลังงานไฟฟ้า ระบบประปาในที่พัก ไปจนถึงอาหารการกิน และกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ

 

ปัจจุบัน ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 0.9% ของโลก ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมนี้

 

ททท. หนุนเอกชนปรับตัวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน

 

“แม้การท่องเที่ยวแบบ Carbon Neutral ค่อนข้างใหม่สำหรับบ้านเรา แต่ก็มีผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว” รองผู้ว่าการ ททท. ด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว กล่าว พร้อมทั้งย้ำถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

 

“หลังการระบาดของโควิด-19 เรากำลังจะต้อนรับนักเดินทางยุคใหม่ที่เป็นผู้บริโภคที่ทรงพลังและผู้กำหนดทิศทางที่ทรงอิทธิพลที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา การปรับรูปแบบธุรกิจและสร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอนจะส่งผลดีต่อธุรกิจเอง และตอบโจทย์กระแสความต้องการอย่างแน่นอน เพราะจากข้อมูลการสำรวจพบว่า ทุกคนยินดีจ่ายเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม” 

 

ตัวอย่างโปรแกรมที่น่าสนใจที่ถูกออกแบบไว้ ได้แก่ การท่องเที่ยวแบบผจญภัย Rewilding the Apennines ในอิตาลี มีเป้าหมายฟื้นฟูระบบนิเวศแถบเทือกเขาแอเพนไนน์ทุก ๆ 100 ตร.ม. ต่อนักท่องเที่ยว 1 คน ในทุกทริปที่จองผ่าน exodustravels.com

 

ททท. หนุนเอกชนปรับตัวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน

 

หรือโครงการ Room for Tree ของ Gliffaes Hotel แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร ที่บริจาคเงิน 1 ปอนด์ ทุก ๆ รายได้จาก 1 ห้องพักในแต่ละคืนให้กับ Stump Up for Trees เพื่อร่วมปลูกต้นไม้เป้าหมาย 1 ล้านต้น และ intrepidtravel.com บริษัทท่องเที่ยวสัญชาติออสเตรเลีย เน้นใช้ระบบพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดในทุกทริป ตลอดจนกำหนดแนวทางการชดเชยคาร์บอน หรือ Carbon Offset

 

ทั้งนี้ ททท. ได้ประเมินและวิเคราะห์รูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงหลังโควิด-19 นักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Sustainable Travel Report 2022 ระบุว่า นักเดินทางทั่วโลก 61% วางแผนการเดินทางที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และอีก 81% ต้องการพักในโรงแรมที่มีการจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืน

 

ผลสำรวจยังพบว่า นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อการเดินทางและกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือช่วยสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเหตุผลที่เพียงพอและคุ้มค่าที่ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย จะปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้

 

ส่วนแนวทางการปรับตัวของธุรกิจไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทำได้ 2 แนวทาง คือ 1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากต้นทาง หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และระบบที่ประหยัดพลังงานทั้งหมด และ 2. การชดเชย หรือ Carbon Offset ที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจซื้อคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยเทียบกับปริมาณที่ได้ปล่อยออกมา เป็นการดำเนินการทางอ้อมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

 

ในประเทศไทยมีระบบการซื้อขายคาร์บอนที่หลากหลายและเป็นมาตรฐาน ภายใต้การดูแลโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่การริเริ่มของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้ทั้งในรูปของโครงการที่ได้รับการสนับสนุน หรือการจ่ายเพื่อชดเชย