เปิดเหตุผล "มาม่า" เปลี่ยนโปรไฟล์โชว์ภาพ "ไวไว" ฉีกตลาดสร้างกระแสโซเชียล

09 มิ.ย. 2568 | 07:51 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2568 | 08:02 น.

ฉีกตำราคู่แข่ง! "มาม่า" เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็น "ไวไว" "ฐานเศรษฐกิจ" ต่อสายตรง "พันธ์ พะเนียงเวทย์" ผู้จัดการใหญ่ TFMAMA ผู้ผลิตมาม่า เคลียร์ชัด! นี่ไม่ใช่การควบรวมกิจการ แต่คือกลยุทธ์ไฮเทคชวนคู่แข่งกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท หลังตลาดซบเซา

ชาวเน็ตงง! ถึงกับต้องดูชื่อเพจอีกรอบ หลังเพจเฟซบุ๊ก Mamalover อัปเดตรูปโปรไฟล์ เป็นโลโก้แบรนด์คู่แข่งอย่าง "ไวไว"  พร้อมใส่แคปชั่น #แวะกินยี่ห้ออื่นบ้างนะงับ

“ฐานเศรษฐกิจ” ต่อสายตรง นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า ถึงกระแสดังกล่าว ว่าส่อแววจะมีการควบรวมหรือไม่?

เปิดเหตุผล \"มาม่า\" เปลี่ยนโปรไฟล์โชว์ภาพ \"ไวไว\" ฉีกตลาดสร้างกระแสโซเชียล

นายพันธ์ เปิดเผยว่า โดยย้ำว่านี่ไม่ใช่การควบรวมกิจการ แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการกระตุ้นตลาดและส่งเสริมการแข่งขันเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค

"นี่คือความสนุกที่พึ่งพากลยุทธ์แบบไฮเทค ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงต้นปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะอึดอัด กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว การที่เราจะมาทำลายกันเองไม่ใช่ทางออก การจะทำให้ตลาดคึกคักได้ เราต้องการเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการแข่งขันคือการพัฒนา ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อและผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด"

นายพันธ์ ย้ำว่า  การแข่งขันในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นสนุกและสร้างสรรค์ ไม่ใช่การเข่นฆ่ากัน "บะหมี่มีหลากหลายประเภท ราคาเข้าถึงได้ เราเชื่อว่าการแข่งขันที่สนุกสนานนี้จะช่วยพัฒนาสินค้าและทำให้ตลาดเติบโต" พร้อมกล่าวเสริมว่า เราโยนโจทย์นี้ออกไปว่านี่คือความจริงของประเทศไทย และอยากให้ภาครัฐเข้าใจว่าการแข่งขันแบบนี้คือสิ่งที่ดี ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาควบคุมมากเกินไป แคมเปญดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาบ่งบอกถึงการควบรวมกิจการแต่อย่างใด

"ธุรกิจนี้คลีนมาก ไม่มีใครจะไปควบรวมใคร"

ทั้งนี้เปรยว่าในอนาคตอาจได้เห็นแบรนด์อื่นๆ ในตลาด เช่น ยำยำ ร่วมสร้างสีสันแบบนี้ เพื่อบ่งชี้ว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังมีโอกาสเติบโตอีกมากหากผู้ประกอบการร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายสำคัญของแคมเปญนี้คือการชี้ให้เห็นว่า การจะทำให้ยอดขายและกำลังซื้อดีขึ้นได้นั้น "ต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาสินค้าให้ดีก่อน" หากต่างฝ่ายต่างพัฒนาสินค้าให้ดีและมาแข่งขันกัน ผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์จากตัวเลือกที่หลากหลายและราคาที่เข้าถึงได้

เปิดเหตุผล \"มาม่า\" เปลี่ยนโปรไฟล์โชว์ภาพ \"ไวไว\" ฉีกตลาดสร้างกระแสโซเชียล

"ในฐานะผู้ผลิต เรามีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เราจะยังคงลุยและสนุกกับการแข่งขันนี้ต่อไป" พันพันกล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตามตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยในปีนี้มีมูลค่าประมาณ 29,000 ล้านบาท ภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กำลังซื้อในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม ที่ผ่านมา หดตัวลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ซึมหนัก เนื่องจากคนไม่ค่อยมั่นใจสถานการณ์เศรษฐกิจ ทำให้มีการใช้จ่ายน้อยลง

สะท้อนจากยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ที่ยอดขายในช่วง 5 เดือนนี้ เติบโตแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ต่ำจากเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโต 5-7 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตลาดไม่โต พฤติกรรมคนซื้อเปลี่ยนไป ซื้อน้อยลง ไม่ซื้อตุน ซื้อเท่าที่มีเงิน ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังแย่อยู่ อย่างไรก็ดี ยอดขายที่ยังเติบโตคือบะหมี่พรีเมียม ส่วนสถานการณ์อีก 6 เดือนที่เหลือของปี 2568 นั้น คาดการณ์ว่า ยอดขายยังทรงตัว