25 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” หนึ่งในเมนูอาหารที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่เฉพาะในฝั่งเอเชียเท่านั้น แต่รวมถึงยุโรป อเมริกาเหนือ หรืออเมริกาใต้ ส่วนในไทยเอง ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับต้นๆ ของการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ด้วยราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ความสะดวกในการกิน ทำให้กลายเป็นขวัญใจคนยาก (จน)
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกโดย โมโมฟุคุ อันโดะ จากบริษัท นิสชิน ฟูดส์ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพของประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม และต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
“โมะโมะฟุคุ” จึงคิดที่จะหาอาหารที่ชาวญี่ปุ่นสามารถรับประทานได้ในราคาถูกและเป็นที่ชื่นชอบ จึงพัฒนากระบวนการผลิตเส้นบะหมี่โดยการทอดและอบแห้งเป็นการถนอมอาหารที่สามารถนำกลับมารับประทานได้อีกครั้งเมื่อเติมน้ำร้อน
“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ถูกวางจำหน่ายครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ภายใต้เครื่องหมายการค้า "ชิกิง ราเมง" (Chikin Ramen) ราคา 35 เยน
ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั้งจีน ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ อเมริกา และวางจำหน่ายไปทั่วโลก ความนิยมอย่างแพร่หลายทำให้
วันที่ 25 สิงหาคมของทุกปี จึงถูกยกให้เป็น “วันแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” หรือ Sokuseki Ramen Kininbi ในภาษาญี่ปุ่น
ข้อมูลจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association) ระบุว่า ดีมานด์การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 121,200 ล้านหน่วยการบริโภค (ห่อ/ก้อน) เพิ่มขึ้น 2.6% เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (all-time high) โดยอ้างอิงจากการจัดส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยประมาณใน 56 ประเทศ ซึ่งมีจีน (รวมฮ่องกง) เป็นตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอันดับ 1 ของโลก อันดับ 2 คือ อินโดนีเซีย ตามมาด้วยอินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น
ขณะที่ในตลาดญี่ปุ่น บริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ขึ้นราคาสินค้าประมาณ 10% ในปี 2565 และขึ้นอีกครั้งในปี 2566 เป็นการตอบสนองต่อต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการขึ้นราคา 10% สองปีติดต่อกันนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ แต่ปริมาณการขายก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลจาก “วิจัยกรุงศรี” ระบุว่า อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (Instant Noodles) มีมูลค่าตลาด 537.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การจำหน่ายในประเทศ 142.2 พันตัน คิดเป็น 61.6% ของปริมาณจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด สอดคล้องกับการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยที่มีปริมาณเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วยจำนวน 3.87 พันล้านหน่วยบริโภค และมีอัตราการบริโภค 54.0 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี อยู่อันดับ 3 ของโลกร่วมกับเนปาล
รองจากเวียดนาม (86.4 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี) และเกาหลีใต้ (76.2 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี) เทียบกับการบริโภคเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 15.2 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี
ข้อมูล : วิกิพิเดีย, วิจัยกรุงศรี