“อุปโภคบริโภค” ราคาพุ่ง ชง 7 ข้อเสนอภาครัฐ ดูแลต้นทุน กำไร ขยายตลาด

16 พ.ค. 2568 | 20:58 น.

ผู้บริโภคแบกรับภาระหนัก “สินค้าอุปโภคบริโภค” พาเหรดขึ้นราคาดันค่าครองชีพพุ่ง บิ๊กเนม ชง 7 ข้อภาครัฐเร่งดูแล ทั้งกลไกราคาสินค้าอย่างจริงจัง ส่งเสริมความสามารถในการผลิต ตรวจสอบการเอากำไรเกินควร ขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงผันผวน แม้บางรายการมีวัตถุดิบล้นตลาดแต่ราคาขายปลีกกลับทรงตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่ยังคงตึงตัว ขณะที่กำลังซื้อยังถดถอยต่อเนื่อง บิ๊กเนมเตรียมรับมือความผันผวน ด้วยการบริหารซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเสนอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลกลไกราคาสินค้าอย่างจริงจัง

นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคล่าสุด พบความไม่สอดคล้องกันระหว่างราคาวัตถุดิบต้นทางและราคาขายปลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มน้ำมันปาล์มและเนื้อสัตว์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของประชาชน

“ขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมาก จนโรงงานบางแห่งเริ่มชะลอการรับซื้อ ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มบรรจุขวดยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 50 บาทต่อขวด ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับราคาวัตถุดิบที่ลดลงมาก ผู้บริโภคจึงควรชะลอการซื้อและจับตาดูราคาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มขายปลีกที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 40 บาท

“อุปโภคบริโภค” ราคาพุ่ง ชง 7 ข้อเสนอภาครัฐ ดูแลต้นทุน กำไร ขยายตลาด

“การที่ราคายังคงสูงอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่โรงงานยังคงเอากำไรเกินควรบนความเดือดร้อนของผู้บริโภค หากราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวลงเร็วกว่านี้ จะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้มาก”

ในส่วนของราคาเนื้อสัตว์ พบว่าเนื้อไก่และเนื้อหมูมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ราคาแพงขึ้นอย่างไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนนัก เมื่อเทียบกับราคาเนื้อไก่ที่ยังคงทรงตัวในระดับกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถูกกว่าเนื้อหมูเกือบครึ่งหนึ่ง

ขณะที่ราคาน้ำมันถั่วเหลืองยังคงมีความผันผวนและมีแนวโน้มขาดตลาดเล็กน้อย แต่ราคาปรับขึ้นไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาสินค้าวัตถุดิบที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ร้านอาหารหลายแห่งประกาศเตรียมปรับขึ้นราคาอาหารในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ซึ่งอาจซ้ำเติมภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคให้หนักขึ้นไปอีก

“ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องมีวิจารณญาณในการเลือกซื้อสินค้า เปรียบเทียบราคา และเลือกบริโภคสินค้าที่เหมาะสมกับกำลังซื้อในช่วงเวลานั้น หากสินค้าบางชนิดมีราคาสูงขึ้นผิดปกติ ก็ควรชะลอการซื้อหรือเลือกบริโภคสินค้าทดแทน”

สมชาย พรรัตนเจริญ

นายสมชาย ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อราคาสินค้าคือ โครงสร้างการกำหนดราคาสินค้าในประเทศไทย ที่มักอิงกับราคาขายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ทำให้ราคาสินค้าในท้องถิ่นที่ต้นทุนการผลิตและขนส่งต่ำกว่า กลับต้องขายในราคาที่สูงตามไปด้วย นอกจากนี้ การที่โรงงานผลิตสินค้าไม่ได้กำหนดราคาขายปลีกเอง แต่ปล่อยให้กลไกตลาดและพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนด อาจทำให้เกิดการบิดเบือนราคาและไม่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

“ภาครัฐควรเข้ามาดูแลกลไกการกำหนดราคาสินค้าให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ตรวจสอบการเอากำไรเกินควรของผู้ประกอบการ และส่งเสริมการแข่งขันในตลาด” นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าร้านอาหาร ควรมีธรรมาภิบาลในการตั้งราคา คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริง และไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และผู้บริโภคควรติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด เปรียบเทียบราคา เลือกซื้อสินค้าอย่างมีเหตุผล และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคตามสถานการณ์

ด้านนายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับราคาขึ้นของวัตถุดิบนั้นมาจากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่มาจากสภาวะสงคราม การแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลต่อการปศุสัตว์ เกษตรกรรม และประมงทั่วโลก รวมถึงความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกะทันหัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงราคาเดิม ไม่มีแผนการปรับราคาในปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำตลอดจนปลายน้ำ ส่งผลให้การใช้วัตถุดิบจากหลายแหล่งภายในประเทศเกิดความสมดุลกับความต้องการและเพียงพอ

วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู

บริษัทมีแผนการผลิตระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ส่งผลดีต่อราคาวัตถุดิบที่จะผันผวนน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น “โครงการเกษตรกรคู่ชีวิต” ที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกกะเพราของเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่นรอบโรงงานซีพีแรม ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและผู้ปลูก สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร

ขณะที่นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด กล่าวว่า การปรับตัวของราคาวัตถุดิบ เช่น ไก่ หมู และน้ำมันพืชในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ แม้ว่าการปรับราคาของวัตถุดิบจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระยะสั้น แต่ทางบริษัทได้เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว ซึ่งรวมถึงการบริหารต้นทุนภายใน เช่น การบริหารจัดการฟู้ดเวสต์ และการทำการตลาดในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้

นอกจากนี้ บริษัทยังมีมาตรการรองรับเพื่อป้องกันผลกระทบจากการขึ้นราคาของวัตถุดิบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการพยายามควบคุมต้นทุนในภาคการผลิตและการนำเข้าสินค้า ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

“ขณะที่ราคาวัตถุดิบหลักบางรายการได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ ราคาหมูและไก่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา บริษัทก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะไม่ปรับราคาอาหารให้สูงขึ้น โดยคำนึงถึงการรักษาความพึงพอใจของลูกค้าและการไม่กระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค”

นายสุภัคยังเสนอว่า ภาครัฐควรให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาระบบการผลิตและการให้การสนับสนุนในระดับต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กสามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ได้ โดยการส่งเสริมความสามารถในการผลิต การปรับปรุงคุณภาพสินค้า และการให้ความช่วยเหลือในด้านต้นทุน

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการส่งเสริมการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรสนับสนุน ซึ่งหากรัฐบาลสามารถสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มงบประมาณและการพัฒนาระบบซัพพอร์ต จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสามารถรับมือกับการแข่งขันในตลาดที่มีความท้าทายสูงขึ้นได้

นอกจากนี้ ปัจจัยเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่ยังไม่มีนโยบายในการออกมาตรการประกันราคาสินค้าและดูแลซัพพลายเชน ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,097 วันที่ 18 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568