สรรพสามิตลุย “ภาษีความเค็ม” ชูโมเดลขั้นบันได ปลุกตลาดอาหารสุขภาพคึกคัก

15 พ.ค. 2568 | 21:43 น.

สรรพสามิตลุยเก็บ “ภาษีความเค็ม” หลัง “ภาษีความหวาน” ดีเดย์บังคับใช้เต็มรูปแบบ 1 เม.ย. 68 แย้มใช้อัตราขั้นบันได จับตา “เครื่องดื่ม-สแน็ค-อาหาร” ขยับตัวแรงเร่งสปีดพัฒนาสินค้า “โลว์ ชูการ์ – โลว์ โซเดียม” ออกทำตลาด นักวิชาการชี้เป็นปัจจัยสำคัญ เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ตลาด

การประกาศใช้อัตราภาษีตามปริมาณความหวานหรือภาษีความหวาน และอัตราภาษีตามปริมาณความเค็มหรือภาษีความเค็ม กำลังสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในตลาดสินค้าบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว (สแน็ค) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  ฯลฯ เห็นได้จากผู้ประกอบการรายใหญ่หันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ "โลว์ ชูการ์" และ “โลว์ โซเดียม”

หวังลดภาระที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีความหวาน ที่เริ่มต้นเก็บอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ขณะที่ภาษีความเค็ม จะเริ่มในระยะเวลาอันใกล้ ส่งผลให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) เติบโตแบบก้าวกระโดด กลายเป็น Blue Ocean

จ่อเก็บภาษีความเค็มแบบขั้นบันได

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีความเค็ม เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในอนาคต โดยมีแนวคิดจัดเก็บภาษีเป็นขั้นบันไดเช่นเดียวกันกับภาษีความหวาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพูดคุยกับทุกภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, ผู้ประกอบการ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) , และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เพื่อให้มาตรการภาษีดำเนินการไปในทิศทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

กุลยา ตันติเตมิท

“ตามหลักของ WHO ระบุว่า เราควรบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัมต่อคน แต่คนไทยบริโภคโซเดียมเกินจำนวนดังกล่าวกว่า 2 เท่า หรือประมาณ 3,600 มิลลิกรัม ฉะนั้น เพื่อตั้งเป้าไม่ให้ประชาชนเกิดโรค เราจึงจะใช้เครื่องมือทางภาษีมาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งย้ำว่า เราจะพยายามให้กระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการน้อยที่สุด”

ทั้งนี้ หากดูสถิติอาหารที่มีโซเดียมสูง อันดับแรก คือ บะหมี่กึ่งสําเร็จรูป อันดับ 2 ขนมขบเคี้ยว และอันดับที่ 3 คืออาหารแช่แข็ง ซึ่งกรมจะคัดเลือกสินค้าเป้าหมาย และกำหนดหลักเกณฑ์ปริมาณโซเดียม เพื่อใช้ในการพิจารณาโครงสร้างภาษี ซึ่งจะดูครอบคลุมถึงสินค้าประเภทใดมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพด้วย

 “การกำหนดภาษีความเค็ม ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของการวัดค่าปริมาณโซเดียมเป็นหลัก ซึ่งเราจะดูว่าควรใช้เกณฑ์อะไรมาวัด แล้วก็จะกำหนดค่าโซเดียมที่เท่าไร และออกมาเป็นอัตราภาษีอย่างไร ซึ่งอัตราภาษีจะมีลักษณะเป็นขั้นบันได ในหลักการจะดำเนินการเช่นเดียวกันกับภาษีความหวาน”

สรรพสามิตลุย “ภาษีความเค็ม” ชูโมเดลขั้นบันได ปลุกตลาดอาหารสุขภาพคึกคัก

ขณะเดียวกัน จากการจัดเก็บภาษีความหวาน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตเดินหน้าเก็บภาษีความหวาน ระยะที่ 4 โดยเป็นการจัดเก็บภาษีขั้นบันไดตามที่กฎหมายระบุ หากผู้ประกอบการไม่ได้ปรับลดปริมาณความหวานลงตามที่กฎหมายกำหนด จะโดนคิดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 บาท/ลิตร เราพบว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ปรับลดปริมาณความหวานลง ตั้งแต่การจัดเก็บภาษีความหวาน ระยะที่ 2

“ผู้ประกอบการได้ปรับลดปริมาณความหวานลงมาแล้ว ตั้งแต่กรมสรรพสามิตเก็บภาษีความหวาน  ซึ่งกรณีที่เครื่องดื่มมีความหวานมากๆ ภาษีความหวานได้ปรับขึ้นไปแล้วช่วงการจัดเก็บภาษีความหวาน ระยะที่ 2 หรือตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564”

ทั้งนี้ พบว่า สินค้าเครื่องดื่มที่มีปริมาณความหวานน้อยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การชำระภาษีเพิ่มขึ้น ขณะที่เครื่องดื่มที่มีปริมาณความหวานมาก มีจำนวนลดลง ส่งผลให้ปริมาณการชำระภาษีลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกันโดยตั้งแต่ปี 2558-2560 ผลิตภัณฑ์ที่ได้สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (healthier choice logo) มีเพียง 216 รายการเท่านั้น แต่ช่วงเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 1,863 รายการ

อาหาร-เครื่องดื่ม เร่งปรับสูตร

ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากภาครัฐจัดเก็บอัตราภาษีความหวานและภาษีความเค็มว่า ที่ผ่านมาเห็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่จากผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ อย่างโค้กและเป๊ปซี่ ที่หันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ "โลว์ ชูการ์" มากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตรายอื่นๆ ในตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่เริ่มปรับสูตรผลิตภัณฑ์ให้เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น เช่น การลดปริมาณน้ำตาลในแยม หรือการพัฒนาเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล

“ในแง่ของผู้ประกอบการ สิ่งที่หลายคนกังวลคือการผลักภาระภาษีไปสู่ผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคา อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ พบว่าการปรับขึ้นราคาในวงกว้างยังไม่เกิดขึ้นมากนัก สาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ การแข่งขันที่สูงในตลาด โดยเฉพาะในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังและน้ำอัดลม ที่ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลายและพร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์หากราคาปรับขึ้น นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าที่จะปรับราคา เพราะเกรงว่ายอดขายจะลดลง”

เมื่อไม่สามารถขึ้นราคาได้ การปรับตัวของผู้ประกอบการจึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยลง หรือใช้สารให้ความหวานทดแทน เพื่อลดต้นทุนภาษี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โค้กที่ออกผลิตภัณฑ์ไม่มีน้ำตาลมากขึ้น เช่น โค้ก วานิลา,สไปรท์ สูตรไม่มีน้ำตาล, แฟนต้า ไม่มีน้ำตาล, ลิปตัน เลมอนไอซ์ที ไม่มีน้ำตาล ฯลฯ ที่เริ่มมีทางเลือกไม่มีน้ำตาลมากขึ้น โดยที่การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มักจะไม่แตกต่างจากสูตรเดิมมากนัก เพื่อไม่ให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง

สรรพสามิตลุย “ภาษีความเค็ม” ชูโมเดลขั้นบันได ปลุกตลาดอาหารสุขภาพคึกคัก

จับตาสแน็ค-บะหมี่กึ่งฯ

ผศ. ดร.เอกก์ วิเคราะห์ให้ฟังว่า ในมุมของผู้บริโภคการมีผลิตภัณฑ์ "โลว์ ชูการ์" และทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นผลดีในแง่ของการมีตัวเลือกที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยอาจจะบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้โดยไม่ได้ตระหนักว่ากำลังบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีน้ำตาลน้อยลงหรือไม่ใส่น้ำตาลเลย เนื่องจากรสชาติและรูปลักษณ์ที่ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก

นอกจากภาษีความหวานแล้ว แนวโน้มการเก็บภาษีความเค็ม ในผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามอง ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวในลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีภาษีความหวาน ทั้งในเรื่องของราคาและการปรับสูตรลดโซเดียม อย่างไรก็ตาม ตลาดขนมขบเคี้ยวอาจมีทางเลือกในการปรับตัวที่แตกต่างออกไป นั่นคือ การลดปริมาณสินค้าในบรรจุภัณฑ์ โดยที่ราคาขายยังคงเดิม ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผู้บริโภคมักจะไม่ทันสังเกต

เขย่าตลาด “สุขภาพ” แข่งดุ

หากวิเคราะห์ถึงทิศทางตลาดและกลยุทธ์นักการตลาดในยุคภาษีสุขภาพ “ผศ. ดร.เอกก์” กล่าวว่า ระยะสั้น ผู้ประกอบการจะมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมน้อยลง เพื่อลดภาระภาษีและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การแข่งขันในตลาด "สุขภาพ" จะทวีความรุนแรงขึ้น

ส่วนระยะกลาง-ยาว  เทรนด์สุขภาพจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางตลาด นักการตลาดจะต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารคุณประโยชน์ด้านสุขภาพของผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง โปร่งใส และหลีกเลี่ยงการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพียงเพื่อลดภาระภาษี แต่ต้องมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ภาษีความหวานและแนวโน้มภาษีความเค็ม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ตลาดเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและจริงจัง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจและสื่อสารคุณประโยชน์ไปยังผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ นักการตลาดที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสุขภาพและรสชาติ ในราคาที่เหมาะสม จะเป็นผู้ที่สามารถคว้าชัยชนะในตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้นนี้ได้

เดินหน้าพัฒนาสินค้า “ทางเลือกสุขภาพ”

ด้านนางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เนสท์เล่ มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนไทย ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเนสท์เล่ได้เข้าร่วมโครงการสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2560 ซึ่งปัจจุบันมีสูตรอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพทั้งหมด 115 รายการ ใน 5 กลุ่มอาหาร คือเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม  กลุ่มไอศกรีมและ อาหารเช้าธัญพืช

สรรพสามิตลุย “ภาษีความเค็ม” ชูโมเดลขั้นบันได ปลุกตลาดอาหารสุขภาพคึกคัก

“เนสท์เล่มีแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยนำเอาความเชี่ยวชาญจากทีมงานศูนย์วิจัยทั่วโลกมาพัฒนานวัตกรรมอาหาร ที่มีโภชนาการที่ดี มีรสชาติอร่อย ให้กับผู้บริโภค โดยมุ่งเน้น 1. ลดสารอาหารที่ก่อให้เกิด NCDs เช่น น้ำตาล ไขมัน โซเดียม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมโดยยังต้องคงรักษารสชาติให้ถูกปากผู้บริโภค เช่นใช้เทคโนโลยีการลดน้ำตาลในวัตถุดิบ/ผลิตภัณฑ์ซึ่งก็คือการใช้เอนไซม์เฉพาะเพื่อลดน้ำตาลที่พบตามธรรมชาติในอาหาร เช่นมอลต์ นม และน้ำผลไม้

2. การพัฒนาสูตรอาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุ ในราคาที่เข้าถึงได้ โดยมีการพัฒนาสินค้าที่เสริมวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นกับคนไทยในช่วงวัยต่างๆ จำนวน 3.4 ล้านหน่วยบริโภคในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยเป็นการเสริมวิตามิน แร่ธาตุที่มักได้รับไม่เพียงพอ อย่างธาตุเหล็ก ไอโอดีน สังกะสี เป็นต้น”

วางแผนปรับสูตรรับทั่วโลก  

นายชนินทร์ เทียนเจริญ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อาเจ ไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม "บิ๊กโคล่า" กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดน้ำดำเน้นแข่งขันที่แบรนด์และรสชาติ ที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีน้ำตาลเฟส 4 ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากได้มีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว และยังคงสามารถจำหน่ายสินค้าในราคาเดิมได้

"เรามีการปรับเรื่องของสูตร ส่วนผสม มาตลอดให้เข้ากับสุขภาพของผู้บริโภคที่ต้องการน้ำตาลน้อยลง ซึ่งไม่ใช่การปรับแค่ในประเทศไทย แต่เป็นระดับโลก เนื่องจากบิ๊กโคล่าเป็นบริษัทโกลบอล"

ทั้งนี้ เทรนด์ของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้ตลาดสินค้าโลว์ ชูการ์มีการแข่งขันสูงขึ้น โดยปัจจุบันตลาดน้ำอัดลมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ต้องการความสดชื่น และกลุ่มที่บริโภคน้ำตาลน้อย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ในส่วนของพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมของผู้บริโภคนั้น ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการเติบโตแบบคงที่ปีละ 2-3% โดยตลาดน้ำดำมีสัดส่วนประมาณ 85% ของตลาดรวมน้ำอัดลมทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ตลาดน้ำอัดลมในช่วงซัมเมอร์ถือเป็นช่วงไฮซีซั่น ยิ่งอากาศร้อนยิ่งขายดี โดยยอดขายในช่วง 3 เดือนนี้ คิดเป็นกว่า 30% ของยอดขายทั้งปี

ปรับเกณฑ์แยม-เยลลี่

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ยังได้ออกประกาศเรื่องการปรับปรุงข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด โดยเภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ได้ออกประกาศ (ฉบับที่ 455) พ.ศ. 2568 เรื่อง แยม เยลลี่ มาร์มาเลด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2568

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานอาหารโคเด็กซ์ (The Codex Alimentarius) ซึ่งเป็นมาตรฐานอาหารสากล รวมถึงเป็นการ ลดความซ้ำซ้อนของกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง และ ตอบสนองข้อเสนอแนะจากภาคอุตสาหกรรม ผู้ผลิต

โดยสาระสำคัญได้แก่ การเพิ่มทางเลือกด้านความหวาน ในผลิตภัณฑ์ การปรับปรุง ข้อกำหนดเกี่ยวกับส่วนประกอบ ให้มีความชัดเจนและยืดหยุ่นมากขึ้น และการปรับปรุง การแสดงฉลาก ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคอย่างครบถ้วนและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตมีทางเลือกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น

สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพและมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีความหวานและส่วนประกอบที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เทียบเท่าระดับสากล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด ที่มีคุณภาพและปลอดภัย