สรรพสามิตเดินหน้า เก็บภาษีความเค็ม นำร่องขนมขบเคี้ยว

11 เม.ย. 2568 | 05:44 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2568 | 05:44 น.

สรรพสามิตเก็บ “ภาษีความหวาน” เฟส 4 คิดภาษีเพิ่มสูงสุด 5 บาท/ลิตร เร่งศึกษาภาษีความเค็ม นำร่องขนมขบเคี้ยว พร้อมรื้อโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี หนุนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตเดินหน้าเก็บภาษีความหวาน ระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีขั้นบันไดตามที่กฎหมายระบุ หากผู้ประกอบการไม่ได้ปรับลดปริมาณความหวานลงตามที่กฎหมาย จะโดนคิดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 บาท/ลิตร 

สรรพสามิตเดินหน้า เก็บภาษีความเค็ม นำร่องขนมขบเคี้ยว

“ผู้ประกอบการได้ปรับลดปริมาณความหวานลงมาแล้ว ตั้งแต่กรมสรรพสามิตเก็บภาษีความหวาน  ซึ่งกรณีที่เครื่องดื่มมีความหวานมากๆ ภาษีความหวานได้ปรับขึ้นไปแล้วช่วงการจัดเก็บภาษีความหวาน ระยะที่ 2 หรือตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564”นางสาวกุลยากล่าว

ทั้งนี้พบว่า สินค้าเครื่องดื่มที่มีปริมาณความหวานน้อย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การชำระภาษีเพิ่มขึ้น ขณะที่เครื่องดื่มที่มีปริมาณความหวานมาก มีจำนวนลดลง ส่งผลให้ปริมาณการชำระภาษีลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

โดยตั้งแต่ปี 2558-2560 ผลิตภัณฑ์ที่ได้ healthier choice logo มีเพียง 216 รายการเท่านั้น แต่ช่วงเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 1,863 รายการ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีความหวาน ระยะที่ 4 เป็นไปตามกฎหมายของกรมสรรพสามิตที่กำหนดไว้ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว โดยเป็นการใช้เครื่องมือทางภาษีดูแลสุขภาพประชาชนอีกช่องทางหนึ่ง และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้กับกรมสรรพสามิตด้วย

ขณะเดียวกัน กรมสรรพสามิต ยังอยู่ระหว่างเร่งสรุปแผนการจัดเก็บภาษีความเค็ม หรือโซเดียม ซึ่งเป็นสินค้าตัวใหม่ ในหลักการจะจัดเก็บจากปริมาณการใช้โซเดียมเป็นหลัก ทั้งนี้ ในระยะแรกจะเน้นไปที่สินค้าประเภทขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ค่อยมีความจำเป็นในการบริโภคเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น ส่วนสินค้าที่เป็นประเภทเครื่องปรุง และบะหมี่สำเร็จรูป ยังไม่อยู่ในแผนการจัดเก็บภาษี โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ 

นอกจากนั้น ยังมีแผนปรับปรุงโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของกรม และส่งเสริมการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในหลักการนั้น จะพิจารณาแบตเตอรี่ที่อยู่ในขั้นปฐมภูมิ หรือใช้แล้วทิ้ง จะมีอัตราภาษีที่สูงกว่า ส่วนแบตเตอรี่ที่อยู่ในขั้นทุติยภูมิ หรือสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือชาร์จได้ น้ำหนักน้อย แต่มีประสิทธิภาพสูง จะมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า 

สำหรับปีงบประมาณ 2568 กรมสรรพสามิตได้รับเป้าหมายการจัดเก็บที่ 6.09 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นเป้าหมายที่สูง และมีความท้าทาย โดยช่วง 5 เดือนปีงบประมาณ 2568 หรือตั้งแต่ตุลาคม 2567-กุมภาพันธ์ 2568 กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้รวม 216,163 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,414 ล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณ 13,415 ล้านบาท 

โดยเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษี ได้แก่ รถยนต์ ต่ำกว่าเป้าหมาย 11,200 ล้านบาท, สุรา ต่ำเป้า 1,498 ล้านบาท, ยาสูบ ต่ำเป้า 2,047 ล้านบาท, เครื่องดื่ม ต่ำเป้า 854 ล้านบาท, และภาษีจักรยานยนต์ ต่ำเป้า 442 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาษีน้ำมัน ยังเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมาย 713 ล้านบาท, ภาษีเบียร์ สูงกว่าเป้าหมาย 1,138 ล้านบาท, ภาษีแบตเตอรี่ สูงกว่าเป้าหมาย 177 ล้านบาท

“การจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการออกมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้การจัดเก็บภาษีรถยนต์ของกรมสรรพสามิตลดลง รวมถึงแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่ชะลอตัว” 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การจัดเก็บภาษีรถยนต์จะมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากมีงานมอเตอร์โชว์ 2025 และผลจากนโยบายการค้ำประกันรถกระบะของรัฐบาล คาดว่าจะสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษีกรมสรรพสามิตกลับมาเป็นบวกได้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,086 วันที่ 10 - 12 เมษายน พ.ศ. 2568