ใกล้เข้าสู่ช่วงเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ บรรดาผู้ปกครองต่างเตรียมพร้อมจับจ่ายใช้สอยเพื่อบุตรหลาน ส่งผลให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยคึกคักเป็นพิเศษ โดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมปี 2568 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 62,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.80% จากปี 2567 และเป็นยอดการใช้จ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในปี 2553
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบุตรหลานหนึ่งคนในช่วงเปิดเทอมนี้อยู่ที่ 26,039 บาท โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เกือบ 67% ระบุว่ามีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม 34.7% เผยว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น การซื้อของมากขึ้น หรือมีจำนวนบุตรที่เข้าเรียนเพิ่มขึ้น ขณะที่ 19.7% ระบุว่าค่าใช้จ่ายลดลงเพราะต้องประหยัดจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
สำหรับแหล่งเงินที่ผู้ปกครองนำมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม พบว่า 61.9% มาจากเงินออม, 26.1% จากเงินเดือน และ 12.0% จากโบนัสหรือรายได้พิเศษ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า 58.9% ของผู้ปกครองระบุว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามีส่วนทำให้ต้องก่อหนี้ คิดเป็นสัดส่วน 10-60% ของยอดหนี้ทั้งหมด
"ยอดใช้จ่ายเปิดเทอมปี 68 สูงสุดเป็นประวัติการณ์" นายธนวรรธน์กล่าว และเสริมว่า ส่วนหนึ่งอาจตีความได้ว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาปรับตัวสูงขึ้น หรือผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจะส่งผลกระทบ ทำให้บางส่วนต้องหารายได้เสริม ลดค่าใช้จ่ายอื่น หรือกู้ยืมเงินเพื่อให้บุตรหลานได้รับการศึกษาที่ดี รวมถึงพิจารณาย้ายโรงเรียนที่ค่าเทอมถูกลง โดยเห็นว่ากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีส่วนช่วยลดภาระของผู้ปกครองได้มาก
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงวันวิสาขบูชา พบว่าบรรยากาศปีนี้คึกคักกว่าปีก่อน คาดการณ์ว่ามีมูลค่าการใช้จ่าย 3,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.16% จากปี 2567 โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนแบ่งเป็น ด้านการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ 8,535 บาท, กิจกรรมทางศาสนา 1,903 บาท, ทำกิจกรรมอื่น 1,623 บาท, พักผ่อนอยู่บ้าน 722 บาท และกลับบ้านต่างจังหวัด 1,033 บาท
นายนวรรธน์ กล่าวว่า จากผลสำรวจทั้งสองช่วงเวลา ยังไม่พบสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยจะซึมตัวลงรุนแรง เนื่องจากประชาชนยังคงมีการใช้จ่ายด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ และยังมีการเดินทางท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงวันหยุดยาววันวิสาขบูชา ซึ่งอาจได้รับอานิสงส์จากกรณีที่สหรัฐฯ เลื่อนการเก็บภาษีตอบโต้คู่ค้า รวมถึงไทยออกไปอีก 90 วัน และมีแนวโน้มที่จะเลื่อนออกไปได้อีก หากการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ยังไม่เห็นผลชัดเจน