สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมกาแฟสำเร็จรูปเมืองไทย เมื่อยักษ์ใหญ่อาหารโลก “เนสท์เล่” ตกอยู่ท่ามกลางข้อพิพาททางกฎหมายกับ “ตระกูลมหากิจศิริ” ผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงงานผลิตเนสกาแฟในไทย ผ่านบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจมายาวนานกว่า 35 ปี
ข้อพิพาทดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นเมื่อ “เนสท์เล่” แจ้งยุติสัญญาที่ให้สิทธิ QCP ผลิตเนสกาแฟในไทย ในปี 2564 และจะมีผลเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งต่อมานายเฉลิมชัย มหากิจศิริ หนึ่งในผู้ถือหุ้น QCP ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
และศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย ในวันที่ 3 เมษายน 2568 เป็นเหตุให้ “เนสท์เล่” ไม่สามารถจำหน่ายหรือนำเข้าสินค้าให้กับคู่ค้าได้ เนสท์เล่ จึงยื่นคัดค้านต่อศาลแพ่งมีนบุรี ในวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
เนสท์เล่ (Nestlé) ถือเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ ที่อยู่มายาวนานกว่า 150 ปี ปัจจุบันดำเนินธุรกิจใน 190 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทยเนสท์เล่ เริ่มเข้ามาทำตลาดเมื่อกว่า 130 ปีก่อน โดยแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ได้แก่ นมตราหมี แม็กกี้ ไมโล คอฟฟี่เมต เพียวไลฟ์ ฯลฯ
รวมถึง “เนสกาแฟ” ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2516 ก่อนที่จะจับมือกับกลุ่มมหากิจศิริ ร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัท บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ในปี 2533 เพื่อผลิต “เนสกาแฟ” ในประเทศไทย
โดยเนสท์เล่ เอส.เอ (สวิตเซอร์แลนด์) กับตระกูลมหากิจศิริ นำโดยนายประยุทธ และนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 ภายใต้สัญญาการร่วมทุนนี้ เนสท์เล่ มีอำนาจในการบริหารงาน การผลิต การจัดจำหน่าย รวมทั้งการทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเนสกาแฟนั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่
การเติบโตอย่างรวดเร็วของ “เนสกาแฟ” สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น เห็นได้จากผลประกอบการโดยรวมของ QCP ที่พบว่าในปี 2562-2566 มีรายได้รวม 15,177 ล้านบาท, 15,772 ล้านบาท, 15,459 ล้านบาท, 17,115 ล้านบาท และ 17,183 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 3,389 ล้านบาท, 3,683 ล้านบาท, 3,704 ล้านบาท, 3,403 ล้านบาท และ 3,067 ล้านบาท ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม หลังแจ้งยุติการให้สิทธิ QCP ผลิตเนสกาแฟ ตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านมา “เนสท์เล่” และตระกูลมหากิจศิริ มีการเจรจาพูดคุยกันมาต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ซึ่งในระหว่างนั้นเอง ในปี 2566 มีข่าวตระกูลมหากิจศิริ ยื่นฟ้องบริษัท เนสท์เล่ ฐานทําผิดสัญญาจากการร่วมทุนในประเทศ โดยยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในข้อหาคิด “ค่าธรรมเนียม” เกินจริงไปกว่า 3,000 ล้านบาท เหตุการณ์นี้บ่งชี้ให้เห็นรอยร้าวระหว่าง 2 พันธมิตร แต่เรื่องราวก็เงียบหายไป
ข้อพิพาทระหว่างเนสท์เล่กับมหากิจศิริ ถูกเปิดเผยอีกครั้งเมื่อมีกระแสข่าวว่า กาแฟจะขาดตลาดเมื่อกาแฟยี่ห้อดังต้องยุติการส่งสินค้าชั่วคราว เนื่องจากติดปัญหาบางประการ ที่สุดแล้ว “เนสท์เล่” ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจง โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า เนสท์เล่ เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว
โดยตั้งแต่ปี 2533 - 2567 ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ ได้ผลิตในประเทศไทยผ่านบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนแบบ 50/50 ระหว่างเนสท์เล่และตระกูลมหากิจศิริ ภายหลังการยุติสัญญา ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของ QCP ได้
ดังนั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 เนสท์เล่ เอส เอ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด ซึ่งกระบวนการพิจารณาคำร้องเพื่อขอเลิกบริษัทอยู่ในการพิจารณาของศาล ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาของการยุติสัญญาจนถึงการยื่นขอยกเลิกบริษัท เนสท์เล่ ได้ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ให้ได้รับผลกระทบ
ต่อมาในช่วงมีนาคม- เมษายน 2568 นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ จำนวน 2 คดี และต่อมาศาลแพ่งมีนบุรีได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในแต่ละคดี โดยวันที่ 3 เมษายน 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ห้ามมิให้เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย โดยที่เนสท์เล่ยังไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าว
เหตุการณ์นี้ทำให้เนสท์เล่ต้องออกหนังสือแจ้งลูกค้า ทั้งผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต่างๆ ทั่วประเทศ รับทราบถึงสถานการณ์และจะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากร้านค้าเหล่านี้ได้ โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบภายหลัง ในช่วงเวลาระหว่างนี้ ร้านค้าปลีกที่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอยู่ในร้าน ยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ
ในแถลงการณ์ยังระบุว่า เนสท์เล่ มีความกังวลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำสั่งศาล ว่าจะกระทบต่อการสูญเสียรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งร้านกาแฟขนาดเล็ก รถเข็นขายกาแฟที่จะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจำหน่ายและการปรับเปลี่ยนสูตรการชงและวัตถุดิบที่ใช้ ยังอาจส่งผลต่อรสชาติที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ประจำวันของผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ อีกทั้งยังส่งผลต่อการขาดรายได้ของพนักงานของลูกค้าและคู่ค้าซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่ของเนสกาแฟที่เคยสามารถจัดส่งวัตถุดิบต่างๆ ให้กับเนสกาแฟแต่ต้องหยุดชะงักลง
รวมไปถึงเกษตรกรไทยผู้เพาะปลูกกาแฟและเกษตรกรโคนมไทย จะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นวัตดุดิบให้เนสกาแฟ เนื่องจากคำสั่งศาลห้ามผลิต และว่าจ้างผลิต เนสกาแฟในประเทศไทย ในทุกๆปี เนสกาแฟรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบพันธุ์โรบัสต้าในปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกได้ประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนหลายล้านคนในประเทศไทยและผู้บริโภคในตลาดส่งออกของเนสกาแฟจะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟดื่ม
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมกาแฟสำเร็จรูป กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เนสท์เล่เป็นองค์กรใหญ่ การจะตัดสินใจหรือดำเนินการใดๆ ย่อมมีการศึกษาและเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการยุติสัญญากับ QCP นั้น ที่มีการแจ้งล่วงหน้าต่อผู้ถือหุ้นเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล
อีกทั้งเนสท์เล่เองให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทย โดยนับจากปี 2561-2567 ใช้เงินลงทุนไปกว่า 22,800 ล้านบาท และมีแผนลงทุนต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มีโรงงานอยู่ 8 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเนสท์เล่เองมีการเปิดเผยแผนลงทุนและแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการลงทุนในประเทศไทย
อย่างไรก็ดีเหตุการณ์นี้ ถือเป็นกรณีศึกษาให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หากมองในสองด้าน จะกระทบต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ เพราะที่ผ่านมาเนสท์เล่เองส่งเสริมและสนับสนุนในด้านโนฮาว รวมถึงเงินทุน และเทคโนโลยีมาต่อเนื่อง ขณะที่นักธุรกิจไทยเองก็ต้องศึกษาและพัฒนาเพื่อต่อยอดจากการเป็นผู้ผลิตสู่การเป็นเจ้าของแบรนด์ เพื่อสร้างแบรนด์ของตนเองให้แข็งแรงและแข่งขันในตลาดได้
ทั้งนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด มีรายได้รวม 57,028 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,682 ล้านบาท ลดลง 10.8% จาก 3,008 ล้านบาทในปี 2565 ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 50,366 ล้านบาทในปี 2562 เป็น 57,028 ล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 3.15% ต่อปี โดยในปี 2561-2567 มีมูลค่าการลงทุนในไทยรวมกว่า 22,800 ล้านบาท ในการรุกทำตลาดภายใต้ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคทุกวัน (Everyday Goodness) เช่น เนสกาแฟ ไมโล นมตราหมี เนสวีต้า เนสท์เล่ เพียวไลฟ์ มิเนเร่ ฯลฯ
กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านโภชนาการเฉพาะกลุ่ม (Tailored Nutrition) เช่น เนสท์เล่ เฮลท์ ไซเอนซ์ เอส 26 ตราหมี คาร์เนชั่น ฯลฯ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของว่าง (Mindful Indulgence) เช่น ไอศกรีมเนสท์เล่ คิทแคท คอฟฟี่เมด เป็นต้น โดยมีแบรนด์ “เนสกาแฟ” เป็นโปรดักส์ฮีโร่ ทำรายได้หลักให้กับบริษัท
ขณะที่ตลาดกาแฟสำเร็จรูปในประเทศไทย พบว่าในปี 2567 มีมูลค่าตลาดราว 3 – 3.5 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น ตลาดกาแฟ 3-in-1 คิดเป็น 60-65% ตลาดกาแฟสำเร็จรูป 20-25% และตลาดกาแฟพรีเมียม (นำเข้า) 10-15% ส่วนแบ่งตลาดโดยรวม “เนสกาแฟ” มีมาร์เก็ตแชร์ราว 50-55%
อย่างไรก็ดี คงต้องจับตามองต่อไปว่าบทสรุปของข้อพิพาทนี้จะจบอย่างไร เมื่อแบรนด์ “Nescafé” ก็เป็นขุมทองของเนสท์เล่ ส่วน “QCP” ก็เป็นขุมเงินของตระกูลมหากิจศิริ