สรุป! ไทม์ไลน์ ปมขัดแย้ง "เนสท์เล่-มหากิจศิริ" จากคู่ค้าสู่คู่แค้น

10 เม.ย. 2568 | 10:33 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2568 | 12:26 น.

คู่ค้า 3 ทศวรรษแตกหัก! สรุปไทม์ไลน์ เจาะลึกปมขัดแย้ง "เนสท์เล่-มหากิจศิริ" ตั้งแต่ร่วมทุนปี 34 สู่ศึกชิงตลาดกาแฟ 1.7 หมื่นล้าน ฐานเศรษฐกิจ ต่อสายตรง กึ้ง-เฉลิมชัย ปมขัดแย้ง "เนสท์เล่"

เจาะลึกความขัดแย้งที่เข้มข้นยิ่งกว่ารสชาติกาแฟ เมื่อสองขั้วอำนาจในตลาดกาแฟไทยมูลค่ามหาศาลอย่าง บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์กาแฟระดับโลก "เนสกาแฟ" และ "ตระกูลมหากิจศิริ" ผู้กุมบังเหียน บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP)

อดีตพันธมิตรผู้ผลิตเนสกาแฟมายาวนานกว่าสามทศวรรษ ได้ก้าวเข้าสู่สมรภูมิพิพาททางกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมิเพียงแต่สั่นคลอนบัลลังก์เจ้าตลาด หากยังฉายภาพความซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ทวีความเข้มข้นเป็นมหากาพย์

ไทม์ไลน์สมรภูมิกาแฟหมื่นล้านเดือด ยิ่งกว่ามหากาพย์ คู่ค้ากว่า 3 ทศวรรษ ออกโรงพิพาท

 

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2533 เมื่อเนสท์เล่ตัดสินใจจับมือกับ นายประยุทธ มหากิจศิริ ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงธุรกิจไทย ก่อตั้ง บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายละครึ่ง 50:50 เพื่อปูทางสู่การผลิตกาแฟสำเร็จรูป "เนสกาแฟ" วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ชวนย้อนไทม์ไลน์ตั้งแต่ต้น มีรายละเอียดดังนี้

สรุป! ไทม์ไลน์ ปมขัดแย้ง \"เนสท์เล่-มหากิจศิริ\" จากคู่ค้าสู่คู่แค้น

พ.ศ. 2533

  • เนสท์เล่เริ่มสัญญาร่วมทุนกับนายประยุทธ มหากิจศิริ โดยจัดตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ถือหุ้นฝ่ายละ 50% เพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย
  • ภายใต้สัญญานี้ เนสท์เล่มีอำนาจในการบริหารงาน การผลิต การจัดจำหน่าย และการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่

พ.ศ. 2564

  • เนสท์เล่แจ้งยุติสัญญาการให้สิทธิในการผลิตเนสกาแฟกับ QCP

พ.ศ. 2566

  • ครอบครัวมหากิจศิริฟ้องบริษัทเนสท์เล่ ฐานทำผิดสัญญาจากการร่วมทุน โดยยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
  • ข้อกล่าวหาคือ เนสท์เล่คิด "ค่าธรรมเนียม" เกินจริงไปกว่า 3,000 ล้านบาท

31 ธันวาคม พ.ศ. 2567

  • สัญญาร่วมทุนระหว่างเนสท์เล่กับตระกูลมหากิจศิริสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล
  • ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้เกี่ยวกับอนาคตของบริษัท QCP

14 มีนาคม พ.ศ. 2568

  • เนสท์เล่ เอส เอ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเลิกบริษัท QCP

มีนาคม - เมษายน พ.ศ. 2568

  • นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่และกรรมการจำนวน 2 คดี

3 เมษายน พ.ศ. 2568

  • ศาลแพ่งมีนบุรีมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปภายใต้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย
  • เนสท์เล่แจ้งว่าจะเคารพคำสั่งศาลและหยุดรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟในประเทศไทยโดยมีผลทันที

4 เมษายน พ.ศ. 2568

  • เนสท์เล่ออกออกหนังสือแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจเนสกาแฟ ส่งให้กับผู้เกี่ยวข้อง
  • กระทรวงพาณิชย์เข้ามาเกาะติดสถานการณ์ พร้อมให้เนสท์เล่ เข้าชี้แจงรายละเอียด

8 เมษายน พ.ศ. 2568

  • เนสท์เล่ ยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว พร้อมยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อการพิจารณาคำร้อง

จากความร่วมมือ สู่เงาแห่งความขัดแย้ง สรุปประเด็นสำคัญของความขัดแย้ง

หัวใจสำคัญของความขัดแย้งครั้งนี้อยู่ที่ความเป็นเจ้าของแบรนด์ "เนสกาแฟ" แต่เพียงผู้เดียวของเนสท์เล่ ในขณะที่ตระกูลมหากิจศิริเป็นเจ้าของโรงงานผลิตผ่านบริษัท QCP ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรร่วมทุนกันมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ข้อพิพาทหลักๆ นั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องค่าธรรมเนียมและการยุติสัญญาร่วมทุน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตและการจำหน่ายเนสกาแฟในตลาดกาแฟสำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท

  1. เนสท์เล่เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว
  2. ตระกูลมหากิจศิริเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเนสกาแฟผ่านบริษัท QCP โดยร่วมทุนกับเนสท์เล่มานานกว่า 30 ปี
  3. ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากข้อพิพาทเรื่องค่าธรรมเนียมและการยุติสัญญาร่วมทุน
  4. การระงับการผลิตและจำหน่ายเนสกาแฟส่งผลกระทบต่อตลาดกาแฟสำเร็จรูปในไทยมูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านบาท

สมรภูมิกาแฟหมื่นล้านแห่งนี้จึงมิได้เป็นเพียงแค่การต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างสองคู่กรณี หากแต่เป็นการเดิมพันครั้งสำคัญต่ออนาคตของแบรนด์กาแฟอันดับหนึ่งในใจผู้บริโภค  และยังเป็นบทเรียนอันล้ำค่าสำหรับความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตามบริบทและผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" จะติดตามความคืบหน้าของมหากาพย์กาแฟบทนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

ฐานเศรษฐกิจ ต่อสายตรง กึ้ง-เฉลิมชัย ไม่พร้อมตอบ ปมขัดแย้ง เนสท์เล่

กึ้ง-เฉลิมชัย ปิดปากเงียบ! "มหากิจศิริ" ยังไม่พร้อมให้ข้อมูล ปมขัดแย้ง "เนสท์เล่" ผู้สื่อข่าวฐานเศรษฐกิจ ติดต่อไปยัง นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) บุตรชายของ นายประยุทธ มหากิจศิริ และผู้บริหารคนสำคัญของตระกูล เพื่อสอบถามถึงกรณีพิพาททางธุรกิจที่กำลังสั่นคลอนวงการระหว่าง บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ ตระกูลมหากิจศิริ

อย่างไรก็ตาม นายเฉลิมชัย ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าว "ฐานเศรษฐกิจ" อย่างสุภาพว่า "ในตอนนี้ยังไม่สะดวกให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิพาทดังกล่าว หากมีความคืบหน้าใดๆ พร้อมที่จะติดต่อกลับไป"

ท่าทีดังกล่าวของฝั่ง "มหากิจศิริ" ยังคงรักษาความเงียบและไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับปมขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้ข้อมูลและรายละเอียดของข้อพิพาทในขณะนี้ยังคงมาจากฝั่งของเนสท์เล่แต่เพียงผู้เดียว