นีลเส็น เปิดเผยข้อมูลล่าสุด เม็ดเงินโฆษณาไตรมาส 2 ปีนี้เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่ารวม 29,908 ล้านบาท ชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและการเติบโตของอุตสาหกรรมโฆษณาไทย โดยทีวียังครองแชมป์สื่อหลักของไทย ด้วยสัดส่วนการใช้ลงเงินโฆษณาสูงถึง 51% ย้ำบทบาทแกนหลักกลยุทธ์การตลาด
สื่อที่มีการเติบโตสูงสุดคือ สื่อโรงภาพยนตร์ โต 48% ในไตรมาส 2 หนังดังขนทัพเข้าโรงกันอย่างคึกคักและสะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้เวลากับกิจกรรมดูหนังมากขึ้น
อุตสาหกรรมยาสีฟันผงาดเป็นผู้นำด้านการลงทุนโฆษณาในไตรมาส 2 ด้วยงบประมาณรวม 917 ล้านบาท เติบโต 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตามมาด้วยอุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำอัดลม ด้วยงบโฆษณา 549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศยังคงเติบโตต่อเนื่อง ด้วยงบโฆษณา 515 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4%
อุตสาหกรรมสินค้าแบรนด์เนมและวิตามินอาหารเสริมเติบโตอย่างโดดเด่นในไตรมาส 2 โดยสินค้าแบรนด์เนมมีการลงทุนด้านโฆษณาเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 124% รวมเป็นมูลค่า 220 ล้านบาท ขณะที่วิตามินอาหารเสริมเติบโต 112% มูลค่างบโฆษณา 466 ล้านบาท
ผู้ประกอบการสินค้าแบรนด์เนมหันมาให้ความสำคัญกับสื่อนอกบ้าน (OOH) มากขึ้น โดยใช้สัดส่วนงบโฆษณาในไตรมาส 2 ถึง 80% โดยข้อมูลจาก Nielsen Consumer & Media View (CMV) พบว่า คนในกรุงเทพฯและปริมณฑล กว่า 91% เข้าถึงหรือสังเกตเห็นสื่อกลางแจ้ง ทำให้สื่อช่องทางนี้เป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนักช้อปในเมือง
รัญชิตา ศรีวรวิไล, Nielsen Thailand Commercial Lead กล่าวว่า “การทุ่มงบโฆษณาของกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมสะท้อนเทรนด์สินค้าไฮเอนด์มาแรงในไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นถึงความท้าทายในการเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง และความสำคัญของการเลือกสื่อที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง Nielsen Ad Intel สามารถตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี”
ข้อมูลจาก Nielsen Consumer & Media View (CMV) ยังสามารถย้ำและยืนยันถึงความนิยมสินค้าหรูหราในกรุงเทพฯ โดยพบว่าคนกรุงเทพกว่า 40% ชื่นชอบเสื้อผ้าและเครื่องประดับแบรนด์เนมที่มีประวัติชื่อเสียงยาวนาน นอกจากนี้ ยังมีคนกรุงเทพกว่า 38% ยินดีจ่ายเงินซื้อสินค้าแบรนด์เนมเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ตัวเองให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมกลับมีการลดงบโฆษณาลง อาทิ อุตสาหกรรม e-marketplace ที่ลดลงถึง 63% ในไตรมาส 2 และอุตสาหกรรมคอนโดมิเนียมที่ลดลง 36%