เด้งรับสังคมสูงวัย ‘กรีน แอนด์ ออแกนิค’ แตกไลน์สินค้า รับผู้ป่วยโรค NCDs

06 เม.ย. 2567 | 09:15 น.

“กรีน แอนด์ ออแกนิค” เด้งรับไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย เดินหน้าพัฒนาอาหารทางการแพทย์ พร้อมขยายตลาดไปยังประเทศตะวันออกกลางตามด้วยขยายไลน์อาหารพร้อมทานสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เข้าโรงพยาบาลรัฐ

นางชลกานต์ วิสุทธิพิทักษ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีน แอนด์ ออแกนิค จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราว 6% มาจากการขยายตัวของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเป็นหลัก

สำหรับอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง มีสัดส่วนในตลาดราว 8% แต่มีแนวโน้มเติบโตจากจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นจาก 4.1 แสนคนในปี 2564 เป็นเท่าตัวหรือราว 8.3 แสนคนภายในปี 2580 ซึ่งผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับโรค

ส่วนปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนให้ตลาดอาหารทางการแพทย์เติบโตคือ โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เพิ่มสูงขึ้น โรคเหล่านี้มักต้องการการรักษาด้วยอาหารทางการแพทย์ ซึ่งช่วยตอบโจทย์ผู้ป่วยเนื่องจากสามารถปรับปริมาณสารอาหารให้เหมาะสมกับวัยของโรค

นางชลกานต์ วิสุทธิพิทักษ์กุล

ควบคุมระดับไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน เหมาะสมกับโรค นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเวลาในการทำอาหาร เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเวลาจำกัด หรือผู้ป่วยที่ไม่สะดวกทำอาหาร ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้ผลิตอาหารทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้ธุรกิจอาหารทางการแพทย์จะเติบโต แต่ก็ยังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญบางประการ อุปสรรคหลักประการหนึ่งคือค่าครองชีพและราคาวัตถุดิบอาหารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับอาหารทางการแพทย์ ซึ่งอาจสูงกว่าอาหารทั่วไป

นอกจากนี้เงินเดือนของผู้คนไม่ได้เพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลง อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ ช่องทางการจัดจำหน่ายที่จำกัด อาหารทางการแพทย์มักหาซื้อได้เฉพาะร้านขายยาทั่วไป ร้านขายยาเฉพาะทาง และโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น สิ่งนี้ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย เข้าถึงอาหารทางการแพทย์ได้ยากขึ้น

ปัจจุบัน กรีน แอนด์ ออแกนิค มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 5 ประเทศได้แก่ 1.อาหารเฉพาะโรค เฉพาะรายบุคคล พร้อมทาน (นักโภชนาการประเมิน สภาวะผู้ป่วย ออกแบบโปรแกรมแผนมื้ออาหารให้รายบุคคล และติดตาม ประเมินผล) 2. อาหารเพื่อสุขภาพพร้อมทานมากกว่า 200 เมนู 3. เครื่องปรุงรสโซเดียมต่ำกว่าทั่วไป 60-90% มีทั้งหมด 12 ประเภท อาทิ น้ำปลา, ซีอิ๊วขาว, ซอสหอย, น้ำจิ้มสุกี้, น้ำจิ้มซีฟู้ด ฯลฯ 4. อาหารแห้งโซเดียมต่ำ อาทิ น้ำพริก และโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 5. ขนมสูตรพิเศษ สำหรับผู้ป่วยไต เบาหวาน อาทิ ปั้นสิบปลา และพายสับปะรด เป็นต้น

เด้งรับสังคมสูงวัย ‘กรีน แอนด์ ออแกนิค’ แตกไลน์สินค้า รับผู้ป่วยโรค NCDs

นางชลกานต์ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทมีแผนขยายกิจการ และส่งออกสินค้าประเภทเครื่องปรุงรสโซเดียมต่ำไปยังประเทศตะวันออกกลาง เนื่องจากประเทศเหล่านี้ใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น จึงต้องการลดการบริโภคโซเดียมเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ประกอบกับรูปแบบผู้บริโภคในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ต้องการความสะดวกสบายจึงทำให้เครื่องปรุงตอบโจทย์ในการทำอาหารเองและได้ดูแลสุขภาพด้วย โดยสินค้าที่ได้รับการตอบรับดีที่สุดคือซอสกะเพรา เนื่องด้วยรสชาติเผ็ดร้อนที่แสดงถึงความเป็นไทย 

นอกจากนี้ มีแผนขยายกลุ่มอาหารพร้อมทานที่เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases : NCDs) เข้าสู่กลุ่มภาครัฐ โดยตั้งเป้าทำราคาให้อยู่ในระดับที่จับต้องได้ และวางจำหน่ายในโรงพยาบาลของภาครัฐทั่วประเทศ ตอนนี้อยู่ในช่วงเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

สำหรับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันนิยมอาหารเนื้อละเอียดหรืออาหารเหลว เนื่องจากรับประทานง่าย ช่วยให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม ผลไม้บด และเนื้อสัตว์บด นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้ความสนใจกับอาหารออร์แกนิก อาหารปลอดสารพิษ และปลอดภัยต่อร่างกาย

เด้งรับสังคมสูงวัย ‘กรีน แอนด์ ออแกนิค’ แตกไลน์สินค้า รับผู้ป่วยโรค NCDs

แม้ว่ากรีน แอนด์ ออแกนิคจะเปิดดำเนินการมาไม่นาน และยังอยู่ในช่วงลงทุนขยายกิจการ แต่บริษัทมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายเติบโตถึง 100% สำหรับปีนี้ บริษัทตั้งเป้าที่จะมียอดขาย 40 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 100% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจอาหารเฉพาะโรคยังมีผู้เล่นไม่มากนัก ทำให้กรีน แอนด์ ออแกนิคมีโอกาสได้เปรียบในตลาด

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,981 วันที่ 7 - 10 เมษายน พ.ศ. 2567