กำลังซื้อหดตัว ฉุดค้าปลีก-ค้าส่ง ลากยาว 6 เดือนไม่ฟื้น

29 มี.ค. 2567 | 20:30 น.

ชี้กำลังซื้อหดตัว ฉุด “ค้าปลีก-ค้าส่ง” ทรุดหนักกว่ายุคโควิด-19 “ตั้งงี่สุน” ชี้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ไม่ดี ยํ้า 3 ปัจจัยลบกระทบต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 คาด 6 เดือนแรกยังไม่สามารถฟื้นตัวได้

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ของตลาดค้าปลีก-ค้าส่ง ตอนนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่ดี กำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัวลดลงไปมาก ส่วนสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี คนขาดความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาล 

กำลังซื้อหดตัว ฉุดค้าปลีก-ค้าส่ง ลากยาว 6 เดือนไม่ฟื้น

โดยเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคลดลงมากกว่าปีก่อน และต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 1 แม้ภาครัฐจะพยายามกระตุ้นการลงทุนในโครงการต่าง ๆ แต่ยังไม่เห็นอะไรเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แม้กระทั่งโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ หรือโครงการอื่นที่รัฐบาลชุดเดิมเคยทำ ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงก็ไม่มี คาดว่าสถานการณ์นี้จะส่งผลต่อเนื่องไปไตรมาสที่ 2 หรือเฉลี่ยระยะเวลา 6 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจก็จะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้

“ไม่รู้ว่าภาวะเศรษฐกิจต้องวัดค่าเงินหรือจีดีพีแบบไหนของประเทศ แต่ในฐานะผู้ประกอบการกล้าพูดได้เลยว่า ตอนนี้ประชาชนคนทั่วไปไม่มีเงิน เงินฝืด หนี้เครดิตหรือหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยธนาคาร ฉะนั้นผู้บริโภคจึงซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่การใช้จ่ายปกติอย่างที่เคยเห็น แม้จะจัดโปรโมชั่นสินค้าราคาถูกมากแค่ไหน ถ้าไม่ใช่สิ่งของจำเป็นคนก็ไม่ซื้อ”

ภาวะดังกล่าวคล้ายว่ากำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังโควิด-19 แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ยิ่งกว่าช่วงเกิดโควิด-19 จนน่าเป็นกังวล โดยตั้งงี่สุนที่เป็นห้างค้าปลีก-ค้าส่ง อยู่ในตลาดการค้าและยืนหยัดสู้กับห้างสรรพสินค้าใหญ่มาตลอด คิดว่าการแข่งขันจะจบที่การพัฒนาตัวเองและรู้สึกว่าต้องเป็นอย่างนั้น แต่กลับต้องเจอภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้าย การบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก การเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนก็ยังไม่เห็นมาลงทุนชัดเจน

กำลังซื้อหดตัว ฉุดค้าปลีก-ค้าส่ง ลากยาว 6 เดือนไม่ฟื้น

ส่วนเรื่อง Soft Power ที่พยายามทำก็กระตุ้นตลาดในระยะสั้นแต่ไม่สามารถคาดหวังในระยะยาวได้ ซึ่งสรุปได้ว่าปัจจัยลบหลักๆ ที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีคือ 1. เรื่องการเมือง รัฐบาลทำงานไม่สอดคล้องกัน 2.นโยบายของภาครัฐ ที่ไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง และ 3. สินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นราคาสวนทางกับรายได้ของประชาชน

นายมิลินทร์ กล่าวว่า ตลาดการค้าในยุคนี้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนวิธีคิดและตอบสนองต่อผู้บริโภคในยุคใหม่ด้วยด้วยตัวเอง เพราะไม่สามารถหวังพึ่งรัฐบาลได้ ขณะเดียวกันหลายคนอาจจะให้ความเห็นว่าสินค้าราคาแพงหรืออาหารจานละ 500-1,000 บาทยังมีคนซื้อกิน เศรษฐกิจยังไปได้ แต่หากลองมาวิเคราะห์จริงจังจะเห็นว่าการใช้จ่ายแบบนี้คนซื้อแค่เดือนละ 1-2 ครั้ง หรือไม่ก็อยู่ในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงซึ่งมีสัดส่วนน้อยมาก นอกจากนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดประเทศไทย ยังถูกสินค้าจากตลาดจีนเข้ามาชิงพื้นที่เป็นจำนวนมาก และรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนให้สินค้าของไทยสู้จีนได้

กำลังซื้อหดตัว ฉุดค้าปลีก-ค้าส่ง ลากยาว 6 เดือนไม่ฟื้น

“กล้ายืนยันว่าสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ทำให้คนลำบากมาก ตลาดในไตรมาสที่ 2 ไม่มีทางกระเตื้องขึ้น ต่อให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลักเข้ามาก็จะกระจุกตัวอยู่แค่หัวเมืองหลักอย่างเชียงใหม่หรือภูเก็ต ไม่สามารถกระจายตัวไปยังเมืองรองได้ ผู้ประกอบการต้องอยู่แบบต้นเป็นที่พึ่งแห่งตน”

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ตั้งงี่สุนมียอดขาย 3,400 ล้านบาท รวมรายได้รวมสุทธิ 3,800 ล้านบาท ปี 2566 มียอดขายลดลงเหลือ 2,500 ล้านบาท (ไม่รวมรายได้อื่นๆ) ส่วนปี 2567 ตั้งเป้าไว้ว่ารายได้จะต้องไม่ต่ำกว่าปี 2566 แต่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายปัจจัยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป