ตลาดหนังสือคึกคัก PUBAT จัดใหญ่ ‘สัปดาห์หนังสือฯ’

23 มี.ค. 2567 | 08:07 น.

“PUBAT” เดินหน้าจัดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22” ใหญ่สุดในรอบ 52 ปี นำร่องจัด Bangkok Rights Fair จับคู่ธุรกิจซื้อขายลิขสิทธิ์กับเอเจนซีระดับโลกจาก 14 ประเทศครั้งแรกในเมืองไทย คาดเงินสะพัดกว่า 350 ล้านบาท

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อุตสาหกรรมหนังสือ” กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรง ใกล้เคียงกับสถานการณ์ก่อนช่วงโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบหนักต่ออุตสาหกรรมส่งผลให้มูลค่าตลาดหายไปกว่า 50% แม้วันนี้ตลาดหนังสือโดยรวมจะยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติที่เคยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านในช่วง 5 ปีก่อน แต่การผลักดันให้ “หนังสือ” เป็น Soft Power ถือเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นฟันเฟืองสำคัญทำให้อุตสาหกรรมหนังสือมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง

การจัดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22” ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในปีนี้จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษเห็นได้จากการเข้ามาจองพื้นที่ภายในงานทำให้พื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตรถูกจับจองเต็มอย่างรวดเร็วและไม่เพียงพอกับความต้องการ

นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ในปีนี้ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 52 ปี ภายใต้แนวคิด “Booklympics” เพื่อต้อนรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ซึ่งภายในงานจะเป็นการออกบูธจำหน่ายหนังสือกว่า 1 ล้านเล่ม จาก 322 สำนักพิมพ์รวม 914 บูธ พร้อมกับกิจกรรมต่างๆ อีกกว่า 100 กิจกรรมตลอดระยะเวลา 12 วัน    

ตลาดหนังสือคึกคัก PUBAT จัดใหญ่ ‘สัปดาห์หนังสือฯ’

โดยภายในงานจัดแบ่งออกเป็น โซนหนังสือ พบกับผลงานหนังสือ7 หมวด ได้แก่ 1. หนังสือนิยายและวรรณกรรม 2.หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น 3.หนังสือเด็กและการศึกษา 4. หนังสือต่างประเทศ 5. หนังสือทั่วไป 6. หนังสือเก่า และ 7. Non-Book โซนนิทรรศการ พบกับนิทรรศการบันทึกเมืองแมว (Cat Country) พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด

นิทรรศการหนังสือดีเด่น ประจำปี 2567 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.), นิทรรศการวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า “Phanwaenfah Prize เส้นชัยไม่ไกลเกินเอื้อม” โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, นิทรรศการ สงกรานต์พราวเวอร์ (Proud Songkran) โดย คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, นิทรรศการ คนดังอ่านอะไร (What read)

โซนกิจกรรม โดยไฮไลท์เป็นการแข่งขัน Booklympics เฟ้นหาสุดยอดฝีมือแห่งวงการหนังสือ 5 ด้าน ได้แก่ 1.สุดยอดนักออกแบบปก (Designer) 2.สุดยอดนักคิดพล็อต (Writer) 3.สุดยอดนักพิสูจน์อักษร (Proofreader) 4.สุดยอดนักขาย (Top seller) 5.สุดยอดนักอ่าน (Best reader), กิจกรรม “หนึ่งอ่านล้านตื่น” (One Reader Inspires Million People Foundation) โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

ตลาดหนังสือคึกคัก PUBAT จัดใหญ่ ‘สัปดาห์หนังสือฯ’

ที่จัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์หาทุนมอบให้กับหน่วยงานที่ส่งเสริมการอ่านแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผ่านการมอบทุน “ซื้อหนังสือตรงใจ” จำนวน 20 แห่ง แห่งละ1 หมื่นบาท รวมมูลค่า 2 แสนบาท เพื่อนำไปเลือกซื้อหนังสือใหม่ด้วยตนเอง, กิจกรรม “หนังสือมีไว้ทำไม” เปิดโอกาสให้นักอ่านได้แสดงความคิดเห็น

“การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22ในครั้งนี้ สมาคมฯมีความพร้อมเต็มที่ เห็นได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมออกบูธ ที่ต่างเตรียมนำเสนอหนังสือปกใหม่ ในหลากหลายแนว ทั้งหนังสือนิยายและวรรณกรรม หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น หนังสือทั่วไป ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมกว่า 100 กิจกรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดให้นักอ่าน ได้เข้ามาร่วมงานมากขึ้น”

นายสุวิช กล่าวอีกว่า งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 หรือ Bangkok International Book Fair ในปีนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากเกินความคาดหมายที่วางไว้ โดยมีสำนักพิมพ์ชั้นนำระดับโลกเข้าร่วมออกบูธจาก 9 ประเทศ 11 บริษัท รวม 18 บูธ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน ยูเครน ฯลฯ ที่มานำเสนอหนังสือและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ ซึ่งครอบคลุมเทคโนโลยีการพิมพ์ วัฒนธรรม และการเรียนการสอนภาษาต่างๆ

นอกจากนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) TCEB จัดงาน “Bangkok Rights Fair” การซื้อขายแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์หนังสือ การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสำนักพิมพ์ไทยและตัวแทนจำหน่าย (เอเจนซี) จากต่างประเทศ ในรูปแบบ Business to Business (B2B)

ตลาดหนังสือคึกคัก PUBAT จัดใหญ่ ‘สัปดาห์หนังสือฯ’

โดยมีตัวแทนจาก 34 บริษัท/ตัวแทนต่างชาติ จาก 14 ประเทศ และ 53 สำนักพิมพ์/ตัวแทนจำหน่าย (เอเจนซี) ประเทศไทย เข้าร่วมเจรจา ระหว่าง 28-30 มีนาคม 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายลิขสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 351 ล้านบาท นอกจากการเจรจาธุรกิจแล้ว สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยังได้จัด Business Field Trip นำสำนักพิมพ์และตัวแทนลิขสิทธิ์ต่างชาติร่วมชมวัฒนธรรมการอ่าน ร้านหนังสือ โรงพิมพ์ และสำนักพิมพ์ชั้นนำของไทยด้วย

“ในปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยังร่วมกับ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด นำระบบ https://wisesight.com/th/zocialeye/ ซึ่งเป็นระบบ AI สำหรับสืบค้นที่จะทำให้เราได้ข้อมูลจากทุกโซเชียลมีเดียที่มีคนพูดถึงงานหนังสือ ทั้งช่วงก่อนงาน ระหว่างงาน และหลังงาน เพื่อให้เราได้เห็นมุมมองที่คนทั่วไปมีต่องานหนังสือ และเราสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมถึงยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อสร้างสรรค์งานและกิจกรรมต่างๆ ให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นด้วย”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,976 วันที่ 21 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2567