2 บิ๊ก อัดอีเวนท์-โปรโมชั่น ปลุกกำลังซื้อไตรมาส 4

26 ก.ย. 2566 | 11:38 น.

2 บิ๊กค้าปลีกโหมปลุกกำลังซื้อไตรมาส 4 “สยามพิวรรธน์” ดึงลักชัวรีแบรนด์ ทุ่มงบกว่าพันล้าน อัดฉีดอีเวนท์ โปรโมชั่น ปั้น Soft Power “เซ็นทรัลพัฒนา” ดึงกว่า 10 แบรนด์ เสริมแกร่งแม็กเน็ต ล่อใจนักช้อป

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เปิดเผยว่า สยามพิวรรธน์เดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในไตรมาส 4 นี้ และตั้งเป้าหมายที่จะทำให้รายได้ในไตรมาส 4 นี้เติบโตขึ้นราว 20% จากไตรมาส 3

โดยบริษัทยังเตรียมจัดงบประมาณเพิ่มอีกเท่าตัวในปีหน้า เพื่อเดินเครื่องหนุนการท่องเที่ยวของไทยตามนโยบายของรัฐบาล โดยมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นจุดแข็งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม สร้างปรากฏการณ์ ปักหมุดให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางแรกที่ต้องมาเยือนสำหรับนักท่องเที่ยวและนักเดินทางจากทั่วโลก

2 บิ๊ก อัดอีเวนท์-โปรโมชั่น ปลุกกำลังซื้อไตรมาส 4

ทั้งนี้ใน 8 เดือนที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยว เข้ามาใช้บริการทั้ง 5 ศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์จำนวน 14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 46% จากปีก่อน โดยมียอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่ 8,500 บาท/คน/วัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 5,500 บาท/คน/วัน โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพ มีการใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ 22 ล้านคน โดย 5 อันดับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้บริการในศูนย์การค้ากลุ่มสยามพิวรรธน์ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ในไตรมาส 4 นี้กลุ่มสยามพิวรรธน์ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว โดยจะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ใช้อยู่ราว 500-600 ล้านบาท เพื่ออัดฉีดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ในปีนี้คือ 30 ล้านคน

ด้วยกลยุทธ์การตลาด ได้แก่ 1. เปิดร้าน Luxury brands ใหม่เพิ่มขึ้น 20 ร้านค้าในไตรมาส 4 ซึ่งหลายแบรนด์เป็นการลงทุนเปิดสาขาแรกในไทย การจัด Pop-up store และงานอีเวนต์ระดับโลก ร่วมกับแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 40 แบรนด์ไปจนถึงสิ้นปี 2567 รวมทั้งขยายพื้นที่ให้กับลักชัวรี แบรนด์ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าจากทั่วโลกมากขึ้น

2. ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ฯลฯ จัด World Class Event และการประชุมนานาชาติ เพื่อดึงดูดนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อสูงจากทั่วโลก รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรใน Global Ecosystem ทั้งสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ภัตตาคาร เพื่อรองรับการจัดงานหลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมธุรกิจ MICE และสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการจัดประชุมนานาชาติของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2 บิ๊ก อัดอีเวนท์-โปรโมชั่น ปลุกกำลังซื้อไตรมาส 4

และบริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการอีเวนต์รายใหญ่ของโลกในการร่วมลงทุนกันสร้างศูนย์ประชุมและการแสดงเพิ่มเติม โดยในไตรมาส 4 นี้จะลงทุนจัดกิจกรรมระดับชาติครั้งยิ่งใหญ่ในทุกศูนย์การค้ารวมกันถึง 40 กิจกรรม ด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านบาท อาทิ ไอคอนสยามเคาท์ดาวน์ 2024 เป็นต้น

3. การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางศิลปะระดับโลก โดยเตรียมแผนเสนอรัฐบาลที่จะปั้นให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะจัดงานศิลปะระดับโลกให้เกิดขึ้นเพื่อดึงดูดบุคคลในวงการศิลปะเข้ามาในประเทศไทย อาทิ งาน Art Basel และ Frieze เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บรรดาศิลปินไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานร่วมกับศิลปินระดับโลกด้วย

“สยามพิวรรธน์มีนโยบายที่จะเปิดศูนย์ศิลปะริเวอร์มิวเซียม ชั้น 8 ไอคอนสยาม ในปี 2569 ด้วยพื้นที่ 8,000 ตร.ม. ซึ่งจะเป็นมิวเซียมมาตรฐานโลกแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถรองรับงานศิลปะ master piece ระดับโลกได้ทัดเทียมกับมิวเซียมชั้นนำในประเทศต่างๆ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะดึงดูดบุคคลสำคัญในวงการศิลปะและบรรดา นักสะสมงานศิลปะจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทย นับว่าเป็นกลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพสูงกลุ่มใหม่ที่จะต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในระยะยาว

นางชฎาทิพ กล่าวอีกว่า อีกกลยุทธ์คือ การปั้น Soft power ของไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดสู่เวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น ดีไซเนอร์ และอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จจากการสร้างเมืองสุขสยาม ซึ่งเป็นการนำผู้ประกอบการ SMEs และพ่อค้าแม่ค้าจาก 77 จังหวัด กว่า 6,000 ราย มารวมตัวกัน

นำเสนออัตลักษณ์ไทยรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมไม่ต่ำกว่าวันละ 7 หมื่นคน นอกจากนี้ยังมีการสร้างแบรนด์สินค้าของคนไทยผ่านธุรกิจรีเทลของสยามพิวรรธน์ ได้แก่ ICONCRAFT, ODS และ ECOTOPIA ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดให้บริการในต่างประเทศทั้งที่ญี่ปุ่นและมาเลเซีย

ด้านนายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงาน การตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้รัฐบาลบริหารประเทศแล้ว เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น มีความชัดเจนขึ้น เรื่องนโยบาย และรัฐบาลเองก็ต้องเร่งสร้างผลงานและส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ก็น่าจะเข้าใจ สถานการณ์ในปัจจุบันได้ดี

ขณะที่หลังการเข้าบริหารประเทศ นโยบายการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยการออกวีซ่าฟรีนั้น ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะไตรมาส 4 เป็นช่วงทัวริสต์ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งจากยุโรป เอเชีย จีน อินเดีย มาเลเซีย ฯลฯ เข้ามาจำนวนมาก ซึ่งเอกชนก็เตรียมความพร้อมรองรับอยู่แล้ว ก็ทำทั้งเรื่องโปรโมชั่น อีเวนท์ เพรสทีจ เป็นต้น

2 บิ๊ก อัดอีเวนท์-โปรโมชั่น ปลุกกำลังซื้อไตรมาส 4

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดในครึ่งปีหลัง บริษัทเตรียมเดินหน้ากลยุทธ์ The Magnitude of World Phenomenon โดยมุ่งมั่นเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ โดยจะมีร้านแบรนด์ดังระดับโลกเข้ามาเสริมทัพ เปิดตัวไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์ทั้งในหมวดอาหาร แฟชั่น กีฬาและอุปกรณ์กีฬา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย แบรนด์ที่ปรับโฉมคอนเซ็ปต์ใหม่ และ Flagship store in Thailand ตอกย้ำการเป็น Global destination อาทิ NITORI Flagship Store ร้านเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน จากประเทศญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันบริษัทมุ่งเน้นการสร้างปรากฏการณ์อีเว้นท์ระดับประเทศ-ระดับโลก Signature ที่เป็น First-time ever ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดมาก่อน ตอกย้ำการเป็นเบอร์ 1 “The Real Global Landmark” อาทิ การเปิดตัวครั้งแรกในไทยของ POP MART ผู้นำด้านป๊อปคัลเจอร์จากจีน, งานแสดงกันดั้มสุดยิ่งใหญ่ “GUNDAM Docks at THAILAND” พร้อมกันดั้มสูงกว่า 6 เมตร, งาน Thailand Coffee Hub เทศกาลดนตรี Melody of Life, งาน YWCA จำหน่ายสินค้าโดยร้านค้าจากสถานทูตในไทย, เทศกาลเปิดไฟต้นคริสต์มาส และงานเคานท์ดาวน์ส่งท้ายปีสุดยิ่งใหญ่ เป็นต้น

“เป้าหมายของบริษัทในปีนี้จะมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวไทยไตรมาสสุดท้ายของปีให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทำให้เชื่อมั่นว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะกลับมาคึกคักกว่าทุกปีที่ผ่านมา และเป็นการตอกย้ำความเป็นเดสติเนชั่นของแบรนด์ระดับโลก ด้วยโลเคชั่นที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ และราชประสงค์เป็นย่านการค้าและท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งที่สุด มีคนสัญจรกว่า 6 แสนคนต่อวัน

เป็นศูนย์กลางธุรกิจและเป็นจุดหมายปลายทางของคนทั่วโลก เทียบชั้นย่านดังอย่าง Times Square New York, Oxford street และ Ginza ญี่ปุ่น รวมถึงการทำตลาดที่นำเสนอโซลูชันครบวงจร ที่สนับสนุนการดำเนินงานของร้านค้า ทั้งการ Drive Sale, Drive Traffic, Drive Shopper Engagement ด้วยเครื่องมือ CRM เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพใช้จ่ายได้อย่างตรง Target ตรง Lifestyles”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,925 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2566