เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ดันไทยขึ้นศูนย์กลางทางการแพทย์

13 ก.ย. 2566 | 22:06 น.

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยมูลค่ารวมแตะ 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี "เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย" งัดบิ๊กอีเวนต์ "เมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023" ดันไทยสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผนึกพันธมิตรด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพกว่า 800 รายจาก 40 ประเทศทั่วโลก จัดงานเมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2023 ชู 3 โซนสะท้อนอนาคตการแพทย์ของโลก สตาร์ทอัพพาร์ค เสนอเฮลท์เทคเพื่อคนทั่วโลก พาวิลเลี่ยนสุขภาพชุมชน โชว์โซลูชั่นสุขภาพในอนาคต ครอบคลุมระบบอัจฉริยะ เวชศาสตร์ผู้สูงวัย การฟื้นฟูสมรรถภาพ พาวิลเลี่ยนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไฮไลท์นวัตกรรมที่เปิดตัวในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ดันไทยขึ้นศูนย์กลางทางการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์
นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เปิดเผยว่า  เมดิคอลแฟร์ไทยแลนด์ 2023 เป็นมหกรรมด้านการดูแลสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิต และผู้แทนจากแบรนด์ต่างๆ เสริมความแข็งแกร่งให้กับแวดวงอุตสาหกรรมการแพทย์ ในจุดยุทธศาสตร์ของอาเซียน

โดยในปีนี้มีผู้ร่วมจัดแสดงสินค้าและนวัตกรรมกว่า 800 บูธจาก 40 ประเทศทั่วโลก ที่จะมาร่วมแสดงนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ เช่น นวัตกรรมด้านเครื่องมือวินิจฉัย ระบบกำจัดเชื้อ อุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถภาพ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ ฯลฯ สร้างการต่อยอดทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งผลักดันและปักหมุดประเทศไทยในฐานะฮับการแพทย์ ส่งเสริมการลงทุนและเศรษฐกิจในระดับมหภาค

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ดันไทยขึ้นศูนย์กลางทางการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์

"เมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ มีจำนวนผู้ร่วมงานและนักลงทุนเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปีสะท้อนทิศทางการการเติบโตของนวัตกรรมเฮลท์เทคของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งภายในงานประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1) สตาร์ทอัพพาร์ค เพื่อสร้างความร่วมมือและต่อยอดทางธุรกิจ ผลักดันสตาร์ทอัพให้เติบโต 2) พาวิลเลี่ยนดูแลสุขภาพชุมชน ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องเทรนด์สุขภาพในอนาคต ทั้งระบบอัจฉริยะและเครื่องมือในดูแลรักษาโรค เวชศาสตร์ผู้สูงวัย การฟื้นฟูสมรรถภาพ ฯลฯ

และ 3) พาวิลเลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไฮไลท์พิเศษที่เปิดตัวในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปีนี้ นำเสนอนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านวัสดุ ผลิตภัณฑ์ แพคเกจจิ้ง และบริการขั้นสูง ผู้ร่วมชมงานในปีนี้มาจากนานาประเทศทั่วโลก จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้กับผู้ประกอบการไทยในการต่อยอดธุรกิจได้ในระดับเวทีโลก"

 

ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญสำหรับผู้จัดงานนิทรรศการ งานประชุม และงานแสดงสินค้าในระดับโลก ซึ่งอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ของไทย ที่มีศักยภาพในการเสริมความแข็งแกร่งทางสังคมและเศรษฐกิจ  ดังนั้น มหกรรมเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023 ถือเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ 

 

"งานในวันนี้เป็นภาพสะท้อนสำคัญในฐานะความพร้อมของประเทศไทยสู่เวทีโลก และ TCEB มีแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ TCEB Go ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ด้วยนวัตกรรมและสร้างความยั่งยืนร่วมกัน" 

 

ด้าน ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนในประเทศมีประมาณ 400 แห่ง โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน คือกลุ่มการท่องเที่ยวทางการแพทย์ หรือ Medical Tourism โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท และอาจแตะระดับ 7.6 แสนล้านบาท ในปี 2570 ทำให้ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากรและเทคโนโลยีใหม่ๆ มีคุณภาพสูง เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์โลกและความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและจากนักท่องเที่ยวนานาชาติ ซึ่งมองหาการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและมีราคาไม่แพง ดังนั้น นวัตกรรมใหม่ๆ ภายในงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ จึงตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ประกอบการในวงการการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการทางการแพทย์ทางไกล อุปกรณ์วิเคราะห์โรคเพื่อการตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ในงานประชุมและสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก 

 

นอกจากนี้ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย (THAIMED) กล่าวว่า ตลาดอุปกรณ์การแพทย์ของประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งและคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้าจากการผลักดันนโยบายศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการส่งออกอุปกรณ์การแพทย์ โดยอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี 

"ในปีนี้ ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยได้อานิสงส์จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการในไทยหลังการเปิดประเทศ กระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองประเภทถุงมือยาง หลอด/เข็มฉีดยา โดยประเทศปลายทางที่สำคัญสำหรับอุปกรณ์และอุปกรณ์การแพทย์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ซึ่งงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023 จะเป็นเวทีที่เชื่อมต่อผู้ผลิตและผู้ใช้บริการอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมโอกาสและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น"