ปั้นไทยสู่ ‘เมดิคอล ฮับ’ ชิงคนไข้ ไล่บี้ ‘สิงคโปร์-มาเลย์-อินเดีย’

29 ต.ค. 2565 | 23:04 น.

ชี้ศักยภาพไทยพร้อมเดินหน้าสู่ “เมดิคอล ฮับ” แนะรัฐเสริมแกร่งชิงความได้เปรียบ หลังเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ มาเลย์ อินเดีย ตั้งเป้าชิง medical hub

นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จุดแข็งด้านเมดิคอล ฮับของไทยคือมีการวางรากฐานค่อนข้างดี มีบริการที่ดี ตั้งแต่เริ่มต้น อาหารถูกปาก และมีคุณค่าทางโภชนาการดี อาหารหลายอย่างยังมีสมุนไพรที่ผสมอยู่ในอาหาร และราคาก็ถูก

 

เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายทางด้านอาหารและการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เยอะ ต่อมาก็คือรีสอร์ท ที่พักอาศัยในประเทศไทยที่อาจจะดูเหมือนแพงถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าถูกมากและมีคุณภาพดี และแพทย์ไทย ก็เป็นแพทย์ที่มีฝีมือ มีการคัดเลือกคนที่มีคุณภาพเข้ามาเรียนการแพทย์ มีการฝึกฝนที่ดีและมีการศึกษาต่อที่ดี ซึ่งมีปัจจัยและองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่ทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

              

สำหรับคู่แข่งที่น่ากลัวของประเทศไทยถ้าพูดถึงเรื่องของเมดิคอล ฮับหลายๆประเทศในโลกก็ตั้งเป้าที่จะเป็น medical Hub เหมือนกันเช่นสิงคโปร์ มาเลเซียแต่ 2 ประเทศนี้เราพบว่าองค์ประกอบหลายๆ อย่างยังไม่ซัพพอร์ต เพราะองค์ประกอบต่างๆที่จะต้องทำให้อยู่ได้หรือไม่ ต้องมีทั้งอาหาร ประสิทธิภาพพยาบาลประสิทธิภาพการรักษา คุณภาพของประชาชนการเดินทางเข้าออกง่าย

ปั้นไทยสู่ ‘เมดิคอล ฮับ’ ชิงคนไข้ ไล่บี้ ‘สิงคโปร์-มาเลย์-อินเดีย’               

แต่มีประเทศหนึ่งที่เป็นคู่แข่งของเราและค่อนข้างน่ากลัวคือ “อินเดีย” จุดแข็งของประเทศไทยก็คือการให้การรักษาที่มีคุณภาพดี ราคาสมเหตุสมผล แต่ประเทศอินเดียจะให้การรักษาตาที่มีคุณภาพดี แต่เขาราคาถูกกว่าค่อนข้างเยอะ แต่องค์ประกอบอื่นๆเขายังสู้เราไม่ได้ เช่น คุณภาพสังคม คุณภาพคน Service Mind ที่อยู่อาศัย สภาพของโรงพยาบาล เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ อาหาร ต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายทางด้านอาหารหรือปัญหาทางด้านที่อยู่อาศัย หรือบางประเทศมีคาแรคเตอร์ วัฒนธรรม ที่ไม่เหมือนกับเรา เชน จะต้องมีการละหมาด ครอบครัวใหญ่เข้ามา ห้องพักก็ต้องมีขนาดใหญ่ นอนได้หลายคน เป็นต้น

 

“ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ต่างชาติรับรู้ อีกเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยก็คือจะมีวีซ่าเฉพาะในกลุ่มนี้ เพราะว่าในกลุ่มนี้ส่วนมากจะมีปัญหาเรื่องของการขอวีซ่าหรือการที่ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานานและอาจจะต้องพักรักษาในประเทศระยะเวลานาน ซึ่งผู้ประกอบการเองไม่สามารถที่จะให้ความช่วยเหลือกับคนไข้ได้ จะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องของการประชาสัมพันธ์และการทำให้เดินทางเข้ามาง่ายก็จะช่วยได้เยอะ”

ปั้นไทยสู่ ‘เมดิคอล ฮับ’ ชิงคนไข้ ไล่บี้ ‘สิงคโปร์-มาเลย์-อินเดีย’

นายแพทย์ดิตถพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันคนไข้ต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามามากขึ้นแต่ไม่ใช่ทุกประเทศ เช่น จีนยังมีการปิดประเทศ ซึ่งปกติจะเข้ามาใช้บริการบางสาขา เช่น ภาวะมีบุตรยาก ศัลยกรรม ฯลฯ ส่วนประเทศอื่น เช่น อาหรับ ออสเตรเลีย เริ่มเข้ามามากขึ้น เพราะขาดการเดินทางในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และเวลาป่วยส่วนใหญ่ต้องมีการติดตามอาการต่อเนื่อง

 

ประเมินว่าสถานการณ์จะฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่าช่วงเวลาก่อนโควิด จะาต้องใช้เวลา 1-2 ปี เพราะคนไข้จากจีนยังมาไม่ได้ ซึ่งเป็นประเด็นหลัก โดยปกติของโรงพยาบาลคนไข้จีนเข้ามารักษาในโรงพยาบาลไม่มาก คิดเป็นสัดส่วน 10-15% ของคนไข้ต่างชาติทั้งหมด ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศแถบอาหรับ นอกจากนี้การฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียก็จะทำให้มีคนไข้จากซาอุฯ เดินทางเข้ามามากขึ้น

 

ด้านนพ.เทวเดช อัศดามงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบางมด กล่าวว่า สำหรับเทรนด์ของโรงพยาบาลภาพที่เห็นชัดเจนคือการเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น โดยมีการรวมตัวกันของแพทย์หลายๆคนร่วมลงทุนเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งทำให้คนไข้มีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นตามไปด้วยแต่อย่างไรก็ตามปริมาณคนไข้เองก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกันจนเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอรองรับ โดยเฉพาะ ICU ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

 

นอกจากนี้ด้วยภาวะเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนค่ายา ค่าเวชภัณฑ์สูงขึ้นประกอบกับในมุมของคนไข้เศรษฐกิจยังไม่กลับมาดี กำลังซื้อต่างๆ ก็อาจจะลดลง กลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อคือกลุ่มกลางถึงบนและกลุ่มที่ซื้อประกัน

ปั้นไทยสู่ ‘เมดิคอล ฮับ’ ชิงคนไข้ ไล่บี้ ‘สิงคโปร์-มาเลย์-อินเดีย’               

“เชื่อว่าสิ้นปีนี้ไปจนถึงปีหน้าธุรกิจโรงพยาบาลจะเติบโตแน่นอน โดยเฉพาะเซกเตอร์เฮลท์แคร์ จะมีการเติบโตอย่างยิ่งโดยเฉพาะตลาดในประเทศ โดยปัจจัยที่ทำให้คนไข้ตัดสินใจใช้บริการโรงพยาบาลมาจาก 2 ส่วนคือ ศักยภาพของแพทย์และชื่อเสียงของโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลบางมดผ่านมาตรฐาน H A ขั้น 3 ซึ่งมีโรงพยาบาลจำนวนน้อยมากที่ผ่านมาตรฐานในขั้นนี้รวมศักยภาพของแพทย์ และค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับต่างชาติ

              

“ศักยภาพแพทย์ไทยมีศักยภาพสูงมากคุณหมอไทยเป็น speaker ในเวทีระดับโลก แต่ประเทศไทยติดพรบ.โฆษณาของแพทย์และของโรงพยาบาลทำให้ไม่สามารถประกาศให้โลกรู้ได้ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ซึ่งเราเข้าใจรัฐบาลถ้ามีการเปิดเสรีในการโฆษณาก็อาจจะมีการโฆษณาเกินจริง และผู้บริโภคอาจจะโดนหลอกได้ง่ายด้วยแต่พอไม่สามารถที่จะโฆษณาได้เลยก็ทำให้ทำธุรกิจยากขึ้น ซึ่งเราก็อยากให้รัฐบาลช่วยผ่อนปรนบ้าง”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,829 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2565