ปัดฝุ่น “Tops Daily” เสียบแทน “แฟมิลี่มาร์ท” สู้ศึกร้านสะดวกซื้อ

08 ส.ค. 2566 | 09:59 น.

สมรภูมิ “ร้านสะดวกซื้อ” เดือด เซ็นทรัล รีเทลปัดฝุ่น “Tops Daily” เสียบแทน “แฟมิลี่มาร์ท” คาดปลดป้ายชื่อทั้ง 415 สาขาในสิ้นปี 66 พร้อมเดินหน้าเขย่าตลาดคอนวีเนียนสโตร์

การปลดป้ายชื่อร้าน “แฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart)”  และเปลี่ยนเป็น “ท็อปส์ เดลี่ (Tops Daily)” ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และคาดว่าร้านแฟมิลี่มาร์ทที่มีอยู่ 415 สาขา จะถูกเปลี่ยนชื่อทั้งหมดให้เป็น “Tops Daily” ภายในสิ้นปีนี้

ทำให้หลายคนอยากรู้ว่า “Tops Daily” คือใคร

ย้อนรอย Tops Daily ใต้ร่ม "เซ็นทรัล รีเทล"

ท็อปส์ (Tops) เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการในส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน เข้าด้วยกัน เมื่อปี 2537 ตามแผนยุทธศาสตร์การควบรวมกิจการซ้ำซ้อน หลังจากที่เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ เซ็นทรัล รีเทล เข้าควบคุมกิจการและเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ที่ก่อนหน้านี้ควบรวมแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นเพาเวอร์บาย แผนกสินค้ากีฬาเป็นซูเปอร์สปอร์ต และแผนกเครื่องเขียนเป็นบีทูเอส

ร้านแฟมิลี่มาร์ท ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Tops Daily

หลังจากนั้น “เซ็นทรัล รีเทล” ได้เปิดทดลองสาขาในชื่อ “เซฟวัน ซูเปอร์มาร์เก็ต” ก่อนเปิดบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และรอยัล เอโฮลด์ ของเนเธอร์แลนด์ ในชื่อ “บริษัท ซีอาร์ซี เอโฮลด์ จำกัด” เพื่อซื้อสิทธิ์การบริหารจาก “ท็อปส์” สหรัฐอเมริกา มาบริหารแทนและเปิดสาขาแรกในสถานประกอบการบันเทิงรอยัล ซิตี้ อเวนิว ในปี 2539 ตามด้วยสาขาเซ็นทรัล ชิดลม ในปี 2541

ต่อมาในปี 2547 เซ็นทรัล รีเทล ได้ตัดสินใจซื้อกิจการ "ท็อปส์" ทั้งหมด 46 สาขาจาก “รอยัล เอโฮลด์” เพื่อให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของคนไทยเต็มตัว พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด” และยังได้ซื้อกิจการฟู้ดไลอ้อน ซูเปอร์มาร์เก็ต ในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อนำเอาสาขานอกห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และโรบินสันมาเปลี่ยนเป็น “ท็อปส์” ทั้งหมด

“เซ็นทรัล รีเทล” ประกาศแผนปรับปรุงภาพลักษณ์ของท็อปส์ใหม่ทั้งหมด โดยเน้นความสดใส และความตื่นเต้น รวมถึงแตกรูปแบบสาขาใหม่คือ “เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์” ขึ้นที่เซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อจับตลาดลูกค้าพรีเมี่ยมที่มีกำลังซื้อสูง

การขยายสาขาต่อเนื่องส่งผลให้ “ท็อปส์” มีสาขามากถึง 281 สาขาทั่วประเทศในปี 2564 ทั้งในฟอร์แมทของ  “เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์” “ท็อปส์ มาร์เก็ต” “ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์” และ “ท็อปส์ เดลี่”

Tops โฉมใหม่

โดย “ท็อปส์ เดลี่”  เป็นร้านสะดวกซื้อ มีขนาดพื้นที่ 600 – 1,000 ตารางเมตร จำหน่ายสินค้า อาหาร และบริการแบบมินิซูเปอร์มาร์เก็ต มีสาขากระจายทั่วประเทศ ทั้งแบบภายในศูนย์การค้า และแบบร้านค้า Standalone ซึ่งมีอยู่ 135 สาขาในปี 2565

เดินหน้า One Brand ควบรวมเหลือ “Tops”

ในเดือนตุลาคม 2565 “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” ประกาศทรานส์ฟอร์มธุรกิจกลุ่มฟู้ดครั้งใหญ่ในรอบ 26 ปี ด้วยกลยุทธ์ One Brand รวมทุกโมเดลค้าปลีกให้เป็นหนึ่งเดียว ตอกย้ำเบอร์ 1 ฟู้ดรีเทลเมืองไทย ภายใต้แบรนด์ “Tops” กับภาพลักษณ์ใหม่เป็นแบรนด์ที่ทันสมัย ด้วยแนวคิด “Every Day Discovery” ที่ไม่ได้เป็นเพียงซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เป็นศูนย์รวมสำหรับการใช้ชีวิต ตอบรับทุกไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกช่วงเวลา

ปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท” เมื่อ “เซ็นทรัล” ไม่ไปต่อ พลิกโฉมเป็น Tops Daily

แบรนด์ ‘Tops’ โฉมใหม่ ถูกปรับดีไซน์โลโก้ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น มีเอกลักษณ์และความโดดเด่น ของแบรนด์ด้วยการใช้ตัวอักษรรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างคาแรคเตอร์ใหม่ให้แบรนด์ ‘Tops” ที่เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ สื่อถึงความเป็นแบรนด์ที่ทันสมัย จับต้องได้ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกเจเนอเรชัน ผ่าน 4 โมเดลร้านค้าปลีก ดังนี้

1. Tops โดยรวมแบรนด์ Tops Market, Tops Daily และ Tops Online เข้าด้วยกัน พร้อมเปลี่ยนเป็นแบรนด์ “Tops” ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ครบครันด้วยสินค้าคุณภาพหลากหลายที่ครบครันสำหรับทุกคนในครอบครัว

2. Tops Food Hall  โดยรีแบรนด์ “Central Food Hall” เป็น ‘Tops Food Hall’ พร้อมยกระดับ ความเป็นฟู้ดสโตร์ไปอีกขั้น ที่มีความครบครันของสินค้าจากแหล่งผลิตที่ดีที่สุดจากทั่วโลก ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้าทุกคนให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม

. Tops Fine Food

3. Tops Fine Food เป็นโมเดลใหม่แห่งแรกในไทยฟู้ดสโตร์ระดับเวิลด์คลาสที่เปิดให้บริการใกล้บ้านมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าทุกคนคัดเฉพาะที่สุดอาหาร-วัตถุดิบระดับโลกที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานจากทั่วโลก มีจำหน่ายที่แรก  แห่งเดียวในไทย ตอบโจทย์ผู้ที่หลงใหลในการทำอาหาร เป็นสถานที่ที่ค้นพบแรงบันดาลใจในทุกวัน

4. Tops CLUB โมเดลค้าปลีกใหม่รูปแบบเมมเบอร์ชิปสโตร์ แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พลิกวงการค้าปลีกของไทย กับอาณาจักรสินค้านำเข้าเอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์ดังจากทั่วทุกมุมโลก มีสินค้าแปลกใหม่ อินเทรนด์มานำเสนอตลอดเวลา  ที่จะเติมเต็มทุกความต้องการของลูกค้า เสมือนรวมห้างดังที่ต่างประเทศมาไว้ที่ไทย  ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกเจเนอเรชัน ของทุกคนในครอบครัว

นั่นหมายความว่า “Tops Daily” จะถูกลบชื่อออกไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ขณะที่ก่อนหน้านี้ “Tops Daily” บางสาขา ได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็น “แฟมิลี่มาร์ท” เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ล่าสุด “เซ็นทรัล รีเทล” เลือกที่จะปัดฝุ่น “Tops Daily” กลับมา ลงแข่งขันในสมรภูมิค้าปลีก “ร้านสะดวกซื้อ” อีกครั้งแทนที่ “แฟมิลี่มาร์ท” ซึ่งหลายคนมองว่า ด้วยแบรนด์ “Tops Daily” ที่คนไทยคุ้นเคย ผนวกแบรนด์ “Tops” มีแข็งแรง กับภาพลักษณ์ความเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีคุณภาพ และแต้มต่อของ Economy of Scale จะทำให้ Tops Daily ชิงความได้เปรียบในการทำตลาดได้มากขึ้น

ปัดฝุ่น “Tops Daily” เสียบแทน “แฟมิลี่มาร์ท” สู้ศึกร้านสะดวกซื้อ

สมรภูมิ "ร้านสะดวกซื้อ” เดือด

นั่นเท่ากับเป็นการประกาศกลับสู่สมรภูมิ “ร้านสะดวกซื้อ” อย่างเต็มรูปแบบของ “เซ็นทรัล รีเทล” 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฉายภาพแนวโน้มอุตสาหกรรมค้าปลีกสมัยใหม่ในปี 2566 - 2568 ว่า ร้านสะดวกซื้อหรือมินิมาร์ท คาดว่าจะมียอดขายเติบโตเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี จาก 4.5% ในปี 2565 เป็นผลจากการมีสาขาจำนวนมากกระจายไปในทุกพื้นที่ ทั้งยังมีการเพิ่มสินค้าประเภทอาหารพร้อมทานและเพิ่มบริการการขายผ่านออนไลน์ต่อเนื่อง

การแข่งขันของธุรกิจทวีความรุนแรงขึ้นทั้งด้านการตลาดและประเภทสินค้าที่วางจำหน่าย อาทิ อาหารพร้อมทานและอาหารสด ตลอดจนการเพิ่มบริการต่างๆ อาทิ รับชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าบัตรเครดิต บริการ Delivery บริการฝากส่งพัสดุ (ร่วมกับพันธมิตร เช่น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และผู้ให้บริการด้าน E-commerce) และเพิ่มจุดบริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending machine)

ปัดฝุ่น “Tops Daily” เสียบแทน “แฟมิลี่มาร์ท” สู้ศึกร้านสะดวกซื้อ

โดยนับจากปี 2562 ที่พบว่าร้านสะดวกซื้อมีการเติบโต 2.9% กลับมาติดลบถึง 6.5% ในปี 2563 จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีมาตรการควบคุมการเปิดปิดเวลาให้บริการ รวมถึงจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ  และยังส่งผลต่อเนื่องมาในปี 2564 ทำให้การเติบโตยังคงติดลบที่ 4.5% ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 พบว่าร้านสะดวกซื้อกลับมาเติบโตเป็นบวกอีกครั้งที่ 4.5% หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

และเชื่อว่าจากนี้ต่อเนื่องไปอีก 3 ปีธุรกิจร้านสะดวกซื้อก็ยังคงมีการเติบโตเป็นบวกต่อไป จากการกลับมาเดินหน้าลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะเบอร์ 1 ในตลาดอย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ภายใต้การนำของซีพี ออลล์ หรือ “เบอร์ 2” อย่าง “โลตัส โก เฟรช” โดยซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) รวมถึงการกลับมาเข้าตลาดหุ้นของ “บิ๊กซี รีเทล” ที่พร้อมระดมทุนเดินหน้าขยายการลงทุนของกลุ่มค้าปลีกทั้งแบรนด์บิ๊กซี และมินิบิ๊กซี อย่างเต็มรูปแบบ เขย่าให้สมรภูมิ “ร้านสะดวกซื้อ” ระอุขึ้นมาทันที