เปิดไส้ใน ประชาพิจารณ์ “ร่าง พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ” เพื่อใคร?

09 มิ.ย. 2566 | 10:19 น.

เปิดไส้ใน สาระสำคัญของการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... กับหลายประเด็นที่ถกเถียงกัน ว่าเป้าหมายในการแก้ไขเพิ่มเติมคืออะไร ใครจะได้ประโยชน์และใครจะเสียผลประโยชน์

การเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำขึ้น พร้อมส่งต่อให้ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย/สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ผลิต/ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, สมาคมผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ผู้ประกอบการ, ผู้จำหน่ายสุรา, ผู้ประกอบกิจการสถานบริการ

ภาคประชาสังคม (NGOs), นักวิชาการ, ส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง, พนักงานเจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นระหว่างวันที่ 1-18 มิถุนายน 2566 นั้น มีหลายประเด็นที่ถูกนำมาถกเถียงกัน ว่าสาระสำคัญคืออะไร และเป้าหมายในการแก้ไขเพิ่มเติมคืออะไร ใครจะได้ประโยชน์และใครจะเสียผลประโยชน์

หากย้อนกลับไปจะเห็นว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... นั้นเกิดขึ้นเมื่อ ร่าง พ.ร.บ.ฯถูกนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี และถูกส่งต่อมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่ง เสนอความเห็นให้นำหลักการตามข้อ 2 วรรคสอง แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515

เปิดไส้ใน ประชาพิจารณ์ “ร่าง พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ” เพื่อใคร?

เรื่องกำหนดห้ามการดื่มสุรา ณ สถานที่ขายสุราในกำหนดเวลาห้ามจำหน่ายสุรามากำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ฯ เพื่อรวมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องไว้ในกฎหมายหลักฉบับเดียว อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย และทำให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้สะดวก สามารถเข้าใจได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

กรมควบคุมโรค จึงกำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำหนดเวลาห้ามบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ สถานที่ขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ รวมถึงกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และบทกำหนดโทษพร้อมกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. ฯ

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ประกอบไปด้วย

1. กำหนดเวลาห้ามการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร่างมาตรา 22 เพิ่มมาตรา 31/1)

2. กำหนดให้ผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณสถานที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้ามีหน้าที่ประชาสัมพันธ์หรือแจ้งเตือนการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด รวมถึงมีหน้าที่ควบคุมดูแล ห้ามปราม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาดังกล่าว (ร่างมาตรา 22 เพิ่มมาตรา 31/2)

เปิดไส้ใน ประชาพิจารณ์ “ร่าง พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ” เพื่อใคร?

3. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณสถานที่ที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็น (ร่างมาตรา 27 เพิ่มมาตรา 34 (2))

 4.กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31/1 และมาตรา 31/2 (ร่างมาตรา 29 เพิ่มมาตรา 39/1 และมาตรา 39/2)

5.กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 34 (6) (ร่างมาตรา 33 เพิ่มมาตรา 44/1)

จึงเป็นที่มาของประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็น ได้แก่

1. สมควรกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่

เปิดไส้ใน ประชาพิจารณ์ “ร่าง พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ” เพื่อใคร?

 2. สมควรกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบดำเนินงานในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ที่จะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือแจ้งเตือนรวมถึงควบคุมดูแล ห้ามปราม หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อไม่ ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกำหนดเวลา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่

 3. สมควรกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบการ เจ้าของผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบฯ ที่ได้ดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไม่ต้องรับผิดหรือไม่

4. สมควรกำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็นในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน่าจะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย

5. สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินห้าพันบาท สำหรับผู้ฝ่าฝืนที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่

6. สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินสามหมื่น บาท สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบฯ ที่ไม่ดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมาย กำหนดหรือไม่

7. สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินห้าแสนบาท สำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่ ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่

อย่างไรก็ดี แม้แนวทางการทบทวนปรับปรุงกฎหมายมีเป้าหมายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ แต่การย้อนกลับไปใช้กฎหมายของคณะปฏิวัติ การโยนภาระให้เจ้าของ/ผู้ประกอบการ การเพิ่มอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ล้วนไม่เอื้อต่อสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ สนับสนุนการท่องเที่ยว และถือเป็นการริดรอนสิทธิ์ผู้บริโภค รวมถึงการเดินหน้า “สุราเสรี” ตามนโยบายของรัฐบาลใหม่

การประชาพิจารณ์ครั้งนี้จึงถูกตั้งเป็นคำถามว่า เกิดขึ้นเพื่อใคร?